วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

3. กำเนิดของสิ่งมีชีวิต





3. กำเนิดของสิ่งมีชีวิต

จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. สืบค้นข้อมูล อภิปรายและอธิบายกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
    2. สืบค้นข้อมูล อภิปรายและอธิบายกำเนิดของเซลล์โพรคาริโอต เซลล์ยูคาริโอตและความสัมพันธ์ระหว่างเซลล์โพรคาริโอตและเซลล์ยูคาริโอต





กำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิต
    
ให้นักเรียนพิจารณาตารางธรณีกาล




                 ภาพที่ 20-9 แนวคิดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกของโอพาริน  ก. บรรยากาศของโลกในยุคแรก ๆ มีการสร้าง NH3 , H2O , H2 , CH4  ข. เกิดโมเลกุลของกรดอะมิโน น้ำตาล กรดไขมัน กลีเซอรอล  ค. เกิดโมเลกุลของพอลิแซ็กคาไรด์ ลิพิด โปรตีนและกรดนิวคลีอิค  ง. เริ่มปรากฎเซลล์เริ่มแรกของสิ่งมีชีวิต (ที่มา : สสวท., 2548 , หน้า 168)

                   จากภาพที่ 20-9 ตามแนวคิดของโอพาริน แล้วร่วมกัน  สืบค้น วิเคราะห์ อภิปราย ลำดับเหตุการณ์กำเนิดของสิ่งมีชีวิต
                 สิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
                 สิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่เกิดขึ้นน่าจะมีโครงสร้างเซลล์แบบใด ?
                 สิ่งมีชีวิตมีลำดับวิวัฒนาการมาอย่างไร ?
                 ลำดับขั้นตอนการเกิดสิ่งมีชีวิตตามแนวคิดของโอพารินเป็นอย่างไร ?
                 วิวัฒนาการทางเคมีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
                 เพราะเหตุใดจึงพบ DNA เป็นสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมากกว่า RNA ?

                สิ่งมีชีวิตมีกำเนิดมาบนโลกนี้เมื่อไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นความอยากรู้ของมนุษย์มานานแล้ว ในสมัยโบราณ มีความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตมีกำเนิดมาจากพระเจ้าสร้างขึ้น บ้างก็เชื่อว่า ชีวิตเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนแปลงมาเป็นสิ่งมีชีวิตตามทฤษฎีการเกิดเองโดยธรรมชาติ (Spontaneous theory) ซึ่งมีนักปราชญ์สมัยก่อนๆ สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น ทาเลส (Thales) อนาซิแมนเดอร์ (Anaximader) หรือ Aristotle เป็นต้น
                ในยุคสมัยต่อมา ความรู้และวิทยากรต่าง ๆ เจริญมากขึ้น ความคิดเห็นเกี่ยวกับกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งกับความคิดเดิมอยู่บ้างเช่น ฟรานเซลโก เรดิ (Francisco Redi) หลุย ปลาสเตอร์ (Louise Pasteur) ได้ทดลองโดยออกแบบและสร้างเครื่องมือขึ้นมาและได้ข้อสรุปว่าสิ่งมีชีวิตเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตเสมอ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบแน่ชัดว่า สิ่งมีชีวิตเริ่มแรกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร


                ความคิดในยุคสมัยปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะความรู้ทางด้านชีวเคมีและอินทรีย์เคมี แนวคิดเกี่ยวกับการเกิดของสิ่งมีชีวิตจึงเปลี่ยนไปจากเดิม และพยายามพิสูจน์ให้เป็นได้ชัดเจนว่าสิ่งมีชีวิตมีกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร เช่น
                ฮัลเดน (J.B.S. Haldane) พ.ศ. 2467, มูทเนอร์ (R. Bentner) และ โอปาริน (A.I. oparin) บุคคลทั้งสามได้กล่าวทำนองเดียวกันว่า สิ่งมีชีวิตไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงขั้นตอนเดียว แต่ต้องใช้เวลานานมากโดยกระบวนการวิวัฒนาการทางเคมีอย่างช้า ๆ เป็นการสังเคราะห์สารอินทรีย์จากโมเลกุลง่าย ๆ ประกอบขึ้นด้วยสารอินทรีย์ซึ่งต้องมีธาตุคาร์บอน ไนโทรเจน ไฮโดรเจน และออกซิเจนประกอบอยู่ ทำให้เชื่อว่า โลกในสมัยแรกระยะหนึ่งนั้นมีภาวะเหมาะสมที่ทำให้ธาตุทั้ง 4 ชนิดมาประกอบกันได้แล้วกลายเป็นสารประกอบส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิต ดังภาพที่ 20-9
                จากแนวคิดของโอพาริน นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่ากรดนิวคลีอิคชนิดแรกที่เกิดขึ้น คือ RNA ทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นสารพันธุกรรมและเอนไซม์ในปฏิกิริยาต่าง ๆ ขิงกระบวนการเมแทบอลิซึม เมื่อ RNA มีวิวัฒนาการขึ้นมาแล้วการสังเคราะห์ DNA จึงเกิดขึ้นภายหลัง (รายละเอียดในเรื่อง ยีนและโครโมโซม) จากโครงสร้างของ DNA ที่เป็นสองสายพันกันเป็นเกลียวทำให้ DNA มีโครงสร้างโมเลกุลที่แข็งแรงกว่า RNA จากแบบแผนการจำลองตัวเองของ DNA (DNA replication) ทำให้มีมิวเทชันน้อยกว่า RNA จึงมีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า ดังนั้นการคัดเลือกโดยธรรมชาตินอกจากจะเกิดขึ้นในระดับของสิ่งมีชีวิตแล้วยังเกิดในระดับโมเลกุล
                สรุป
                บรรยากาศของโลกในยุคแรก ๆ ทำให้เกิดการสังเคราะห์สารเคมีอย่างง่าย ๆ เช่น NH3 H2O H2 และ CH4 ต่อมาสารเคมีเหล่านี้ มีวิวัฒนาการเกิดเป็นโมเลกุลที่มีโครงสร้างซับซ้อนคือ กรดอะมิโน กรดไขมัน น้ำตาลและกลีเซอรอลเป็นต้น จนกระทั่งเกิดกรดนิวคลีอิก ครูชี้แจงเพิ่มเติมว่าแนวคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นจากสิ่งไม่มีชีวิตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ครั้งเดียวในโลก ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตจากสิ่งไม่มีชีวิต โดยในขั้นตอนแรกของการเกิดสิ่งมีชีวิตจะเป็นวิวัฒนาการทางเคมีเกิดเป็นเซลล์แรกเริ่ม เซลล์แรกเริ่มนี้สามารถแบ่งตัวได้และมีสารพันธุกรรมเกิดขึ้นโดยสารพันธุกรรมชนิดแรกที่เกิดขึ้นคือ RNA ก่อนที่จะมีวิวัฒนาการเป็น DNA ซึ่งเป็นวิวัฒนาการระดับโมเลกุล แต่การที่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีสารพันธุกรรมเป็น DNA ยกเว้นไวรัสบางชนิดเนื่องจาก DNA มีโครงสร้างโมเลกุลที่แข็งแรงกว่า RNA นั่นคือเป็นผลมาจากกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในระดับโมเลกุลนั่นเอง

                คำถามเพิ่มเติม
                ให้นักเรียนร่วมกันศึกษาภาพที่ 20-10 และภาพที่ 20-11 เพื่อหาคำตอบว่า นักวิทยาศาสตร์ท่านใดที่พิสูจน์แนวคิดของโอพารินว่าเป็นไปได้ และเซลล์เริ่มแรกเกิดได้อย่างไร
                ในปี พ.ศ. 2496 สแตนเลย์ มิลเลอร์ (Stanley Miller) ได้ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดของโอพาริน โดยแสดงให้เห็นว่าสารประกอบอย่างง่ายของสิ่งมีชีวิต เช่น กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ชนิดอื่นรวมทั้งสารอินทรีย์ เช่น ยูเรีย สามารถเกิดขึ้นได้ภายในชุดการทดลองที่คาดว่าเป็นสภาวะของโลกในระยะเวลานั้น คือ ไม่มีออซิเจน แต่มีแก๊สมีเทน แอมโมเนีย น้ำและแก๊สไนโตรเจน โดยมีแหล่งพลังงานจากไฟฟ้าดังภาพที่ 20-10


                   ภาพที่ 20-10 มิลเลอร์และอุปกรณ์การทดลอง เพื่อพิสูจน์แนวคิอดของโอพาริน (ที่มา : สสวท., 2548 หน้า 169)

                นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายท่านที่ทำการทดลองคล้ายกับมิลเลอร์ โดยใช้สารตั้งต้นและพลังงานอย่างอื่น เช่น สารกัมมันตรังสี รังสีอัลตราไวโอเลต พบว่าได้ผลเช่นเดียวกันและเกิดเบสพิวรีนและไพริมิดีนอีกด้วย
                เมื่อสารโมเลกุลใหญ่เกิดขึ้นได้ตามแนวคิดของโอพาริน สารอินทรีย์เหล่านี้จะประกอบเป็นเซลล์เริ่มแรกได้อย่างไร ?

                ซิดนีย์ ฟอกซ์ (Sidney Fox) นักชีวเคมีชาวอเมริกันและคณะได้แสดงให้เห็นว่า เซลล์เริ่มแรกเกิดจากกรดอะมิโนได้รับความร้อนและมีการรวมกลุ่มกัน ซึ่งมีสมบัติหลายประการที่คล้ายกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เช่น มีการเจริญเติบโต สามารถเพิ่มจำนวนโดยการแตกหน่อและมีกระบวนการเมแทบอลิซึมเกิดขึ้น ดังภาพที่ 20-11




                   ภาพที่ 20-11 การเกิดเซลล์เริ่มแรกตามแนวคิดของซิดนีย์ ฟอกซ์  (ที่มา : สสวท., 2548, หน้า 169)

                สรุปแนวคิดเกี่ยวกับกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
                1. สแตนเลย์ มิลเลอร์เป็นผู้พิสูจน์แนวคิดของโอพาริน
                2. ซิดนีย์ ฟอกซ์ เสนอว่าเซล์เริ่มแรกเกิดจากกรดอะมิโนได้รับความร้อนและมีการรวมกลุ่มกันมีสมบัติหลายประการเหมือนสิ่งมีชีวิต

Prokaryotic Cells and Eukaryotic Cells


                3.1 กำเนิดของเซลล์โพรคาริโอต

                ให้นักเรียนศึกษาตารางธรณีกาล และจากหลักฐานของซากดึกดำบรรพ์ แล้วช่วยกันสรุปจากคำถามต่อไปนี้
                1. พบร่องรอยของเซลล์เริ่มแรก เมื่อประมาณกี่พันล้านปีมาแล้ว
                2. เซลล์ระยะเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตน่าจะคล้ายเซลล์อะไร และถือกำเนิดมาได้อย่างไร ?
                3. เซลล์โพรคาริโอตพวกแรกที่เกิดขึ้นน่าจะดำรงชีวิตแบบใด ?
                แนววิเคราะห์และสรุป
                เริ่มพบร่องรอยของเซลล์เริ่มแรกซึ่งเป็นเซลล์โพรคาริโอต เมื่อประมาณ 3,500 ล้านปีที่ผ่านมา เซลล์โพรคาริโอตระยะแรกควรดำรงชีวิตแบบไม่ใช้ออกซิเจน โดยไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของโลกขณะนั้นมีออกซิเจนไม่เพียงพอ ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการเป็นเซลล์โพรคาริโอตที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงจากน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้บรรยากาศของโลกในยุคนั้นมีออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเกิดวิวัฒนาการมาเป็นเซลล์ยูคาริโอตที่ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตโดยใช้ออกซิเจน

                เซลล์ยูคาริโอตถือกำเนิดมาได้อย่างไร

                3.2 กำเนิดของเซลล์ยูคาริโอต
                นักเรียนทราบมาแล้วว่าเซลล์โพรคาริโอตและยูคาริโอตมีความแตกต่างกันที่ เซลล์โพรคาริโอตไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส ไม่มีออร์แกเนลที่มีเยื่อหุ้ม เช่น ER ไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์ และให้นักเรียนพาจารณาภาพที่ 20-12



ภาพที่ 20-12 กำเนิดของเซลล์ยูคาริโอต (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 171)


               จากภาพที่ 20-12 ให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ อภิปราย ตอบคำถามต่อไปนี้ และร่วมกันสรุปในลำดับต่อไป
                เซลล์ยูคาริโอตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และโครงสร้างที่ซับซ้อนของเซลล์ยูคาริโอตเกิดมาจากโครงสร้างอย่างง่ายของเซลล์โพรคาริโอตได้อย่างไร
                จากภาพที่ 20-12 แสดงกำเนิดของเซลล์ยูคาริโอต พบว่าการเจริญของเยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปในเซลล์ล้อมรอบบริเวณที่มีสารพันธุกรรมอยู่แล้วจึงพัฒนาเป็นนิวเคลียสทำให้ได้เซลล์ยูคาริโอตและมีเอนโดพลาสมิกเรติคูลัม ขณะที่ไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์เกิดจากเซลล์โพรคาริโอตขนาดเล็กเข้าไปอาศัยอยู่ภายในเซลล์โพรคาริโอตขนาดใหญ่นั่นเอง จากประจักษ์พยานพบว่า ไมโทคอนเดรียและคลอโรพลาสต์มี DNA และไรโบโซมคล้ายกับเซลล์โพรคาริโอตและมีเอนไซม์ในกระบวนการถ่ายทอดอิเล็กตรอนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่าเซลล์ยูคาริโอตมีวิวัฒนาการมาจากเซลล์โพรคาริโอต
                จากกำเนิดของเซลล์โพรคาริโอตและเซลล์ยูคาริโอตจนกระทั่งมีวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์จะต้องมีวิธีการที่จะศึกษาสิ่งมีชีวิตอย่างเป็นระบบ โดยการจัดสิ่งมีชีวิตเป็นหมวดหมู่ นักเรียนคิดว่า นักวิทยาศาสตร์จัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตออกเป็นกี่กลุ่ม ใช้เกณฑ์ใดในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต
.......................................................................................
เอกสารอ้างอิงและแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือครูสาระ
การเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5. องค์การค้าคุรุสภา. กรุงเทพฯ. 2547.

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการค. หนังสือเรียนสาระ
การเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5. องค์การค้าคุรุสภา. กรุงเทพฯ. 2547.

Bauer, Penelope Hanchey, Magnoli, Micheal A., Alarez, Armand, Chang-Van Horn, Dorothy and
Gomes, Delilah Taylor. Experiences in Biology. Laidlaw Brothers Publishers. Illinois.
1977.



2 ความคิดเห็น:

THE ENDOCRINE SYSTEM

THE ENDOCRINE SYSTEM Contents Hormones Evolution of Endocrine Systems Endocrine Systems and Feedback Mechanisms of Hormone Action ...