วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ระบบไหลเวียน (Circulatory system)

ระบบไหลเวียน (Circulatory system)
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องแลกเปลี่ยนสารกับสิ่งแวดล้อม เช่นนำเอาสารอาหารและออกซิเจนเข้าไปเพื่อทำให้เกิดพลังงานในการดำรงชีวิตโดยกระบวนการหายใจในระดับเซลล์ (cellular respiration) และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป
1.  Gastrovascular cavity
      ช่อง gastrovascular เป็นบริเวณที่มีทั้งการย่อยอาหารและการลำเลียง โดยเซลล์ด้านในลำตัวจะทำหน้าที่ทั้งย่อยอาหารภายในเซลล์ และปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารภายใน gastrovascular แล้วดูดซึมสารอาหารแพร่เข้าสู่เซลล์ชั้นนอกของร่างกาย เช่นในไฮดรา

ภาพที่  1  ช่องกัสโตรวาสคิวลาร์ของไฮดรา

2.  ระบบไหลเวียนแบบเปิดและแบบปิด (Open and closed circulatory system)

      ระบบไหลเวียนแบบเปิด พวกแรกพบในแมลงและสัตว์พวก arthropods โดยมีหัวใจ ซึ่งอาจจะมีมากกว่าหนึ่งอัน ทำหน้าที่สูบฉีดของเหลวที่เรียกว่าฮีโมลิมพ์ (hemolymph) ไปตามท่อ (รูปที่ 2) แล้วกระจายออกไปตามแอ่ง sinus ที่ล้อมรอบอวัยวะซึ่งบริเวณนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนสารระหว่าง hemolymph กับเซลล์ของอวัยวะเหล่านั้น hemolymph ตัวอย่างเช่นในตั๊กแตน มีท่อด้านบนลำตัวทำหน้าที่เป็นหัวใจ เมื่อหัวใจบีบตัว hemolymph จะออกไปตามท่อเข้าสู่แอ่งรอบๆ อวัยวะ เมื่อหัวใจพัก ของเหลวจะกลับเข้าสู่หัวใจทางช่องออสเตีย (ostia) เมื่อเคลื่อนไหว แอ่ง sinus จะถูกบีบ ทำให้ของเหลวไหลออกได้ ระบบไหลเวียนแบบเปิดนี้จะนำเฉพาะสารอาหารไม่ได้นำออกซิเจน
      ระบบไหลเวียนแบบปิด (closed circulatory system) ของเหลวในระบบนี้คือเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในหลอดเลือดตลอดเวลา จึงแยกออกจากของเหลวระหว่างเซลล์ได้อย่างชัดเจน มีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดออกสู่หลอดเลือดขนาดใหญ่ แล้วไปตามหลอดเลือดขนาดเล็กลงไปตามลำดับ จนถึงที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งแตกแขนงไปล้อมรอบตามอวัยวะต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนสารเกิดขึ้นระหว่างน้ำเลือดกับของเหลวระหว่างเซลล์ที่อยู่รอบ ๆ เซลล์ของอวัยวะนั้น ๆ ระบบไหลเวียนชนิดนี้พบในสัตว์พวกไส้เดือนดิน ปลาหมึก และสัตว์มีกระดูกสันหลัง
ภาพที่  2  ระบบไหลเวียนเลือดแบบเปิด และระบบไหลเวียนเลือดแบบปิด 

3.  ระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular system)      ระบบลำเลียงภายในร่างกายของสัตว์มีกระดูกสันหลังและของคนเราเป็นระบบไหลเวียนแบบปิด ระบบนี้ประกอบด้วยหัวใจ หลอดเลือด และเลือด จึงเรียกระบบนี้ว่าระบบหัวใจและหลอดเลือด
      วงจรการไหลเวียนเลือด มีดังนี้
      1. การไหลเวียนแบบวงจรเดียว พบในพวกปลา มีหัวใจ 2 ห้อง ห้องบน 1 ห้อง ห้องล่าง 1 ห้อง มีการไหลเวียนของเลือดเป็นแบบวงจรเดียว (single circulation) โดยหัวใจห้องบนรับเลือดที่มีออกซิเจนต่ำที่มาจากเนื้อเยื่อ แล้วสูบฉีดไปยังเหงือกเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊สที่หลอดเลือดฝอยที่เหงือก (gill capillaries) แล้วเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงจากบริเวณเหงือกจะไปยังหลอดเลือดฝอยที่อวัยวะที่เรียกว่า systemic capillaries ดังนั้นเลือดออกจากบริเวณเหงือกไปยังอวัยวะจะไปได้ช้ามาก เนื่องจากทั้งแรงดันจากหัวใจและแรงดันน้ำ (hydrostatic pressure) ลดลงอย่างมาก แต่ปลาก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยการเคลื่อนที่ตลอดเวลา
      2. การไหลเวียนแบบสองวงจร พบในสัตว์ที่มีหัวใจ 3 ห้องและ 4 ห้อง คือ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและสะเทินน้ำสะเทินบก กล่าวคือ นกและคนมีหัวใจ 4 ห้อง ซึ่งกบจะมีหัวใจ 3 ห้อง เป็นต้น

ภาพที่  3  ระบบไหลเวียนเลือด

      ตัวอย่างเช่น นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีหัวใจ 4 ห้องแบบสมบูรณ์ คือห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง (รูปที่ 3) มีการไหลเวียนเป็นแบบ double circulation เลือดที่มีออกซิเจนสูงและที่มีออกซิเจนต่ำจะมีการไหลเวียนแยกจากกันโดยสิ้นเชิง และยังมีความดันเลือดสูงอีกด้วย จึงเหมาะสมกับนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นพวก endotherm ที่ต้องการปริมาณออกซิเจนต่อน้ำหนักตัวมากกว่าสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนับเป็นตัวอย่างของวิวัฒนาการแบบ convergent เพราะสัตว์ทั้งสองมีบรรพบุรุษที่เป็นสัตว์เลื้อยคลานต่างชนิดกัน
      การไหลเวียนเลือดในระบบหัวใจ และหลอดเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เริ่มจากเลือดออกจาก ventricle ขวาไปยังปอดทาง pulmonary artery จากปอดเข้าสู่หัวใจทาง atrium ซ้าย แล้วลงสู่ ventricle ซ้าย จาก ventricle ซ้าย เลือดออกทาง aorta ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้วกลับเข้าสู่ atrium ขวา ทาง anterior (superior) vena และ posterior (inferior vena cava) แล้วลงสู่ ventricle ขวา


ภาพที่  4  แสดงวงจรระบบไหลเวียนเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม double circulation  

4.  หัวใจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammalian heart)

      ตัวอย่างเช่นหัวใจของคนเรามี 4 ห้อง atrium 2 ห้อง และ ventriclce 2 ห้อง อยู่ภายในทรวงอกค่อนไปทางด้านซ้าย มีขนาดโตประมาณเท่ากำปั้นของผุ้เป็นเจ้าของ ผนังหัวใจประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งผนังหัวใจห้อง ventricle จะหนากว่าผนังหัวใจห้อง atrium มาก โดยเฉพาะ ventricle ซ้ายจะหนาที่สุด และเป็นส่วนปลายสุดของหัวใจ

ภาพที่  5  กายวิภาคของหัวใจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

      ระหว่างหัวใจห้อง atrium และห้อง ventricle มีลิ้นกั้นเรียกว่า atrioventrieular (AV) valves ด้ายซ้ายมี 2 แผ่น (bicuspid values) ด้านขวามี 3 แผ่น (tricuspid values) มีเส้นเอ็น (cordae tendenae) ดึงยึดลิ้นดังกล่าวจากด้านล่างของหัวใจห้อง ventricle เมื่อเลือดจากหัวใจห้อง atrium ดันลิ้นให้เปิด เลือดจะไหลจากหัวใจห้อง atrium ลงสู่หัวใจห้อง ventricle แล้วลิ้นจะปิด เพื่อห้องกันไม่ให้เลือดไหลกลับ ระหว่างหัวใจห้อง ventricle กับหลอดเลือดมีลิ้นกั้นเช่นเดียวกัน เรียกว่า semilunar values มีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมสามแผ่น ลิ้นดังกล่าวมีอยู่ 2 แห่ง คือ ระหว่างหัวใจห้อง ventricle ซ้ายกับหลอดเลือดใหญ่เอออร์ตา (aorta) และหัวใจ ventricle ขวากับหลอดเลือดไปปอด (pulmonary artery) ลิ้นทั้งสองแห่งจะเปิดเมื่อหัวใจห้อง ventricle บีบตัวดันเลือดออกสู่หลอดเลือด เมื่อหัวใจพัก ลิ้นดังกล่าวจะปิด ป้องกันไม่ให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจอีก หลอดเลือดแดงใหญ่ aorta มีความยืดหยุ่นเพื่อขยายตัวออกรองรับเลือดที่ดันออกจากหัวใจ ดังนั้นเมื่อเลือดออกสู่หลอดเลือดใหญ่ จะเกิดเป็นจังหวะจากการที่หลอดเลือดนี้ยืดออก และหัวใจห้องล่างบีบตัวแต่ละครั้งจะเกิดความดันคือชีพจร (pulse) ซึ่งสามารถนับได้เป็นอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate)

5.  วัฏจักรหัวใจ (Cardiac cycle)

      เมื่อหัวใจบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจ แล้วพักเพื่อให้เลือดเข้าหัวใจครบหนึ่งรอบ เรียกว่าวัฎจักรหัวใจ (cardliac cyclc) ซึ่งกินเวลาประมาณ 0.8 วินาที (รูปที่ 6) ช่วงที่หัวใจบีบตัวเรียกว่า systole และหัวใจพักเรียก diastole วัฎจักรหัวใจนี้มี 3 ระยะคือ ระยะพัก (relaxation phase) เป็นระยะที่หัวใจทั้ง atrium และ ventricle เลือดจากหลอดเลือด vein เข้าหัวใจ ระยะนี้กินเวลาประมาณ 0.4 วินาที ระยะที่สองคือ atrial phase เป็นระยะที่หัวใจห้อง atrium บีบตัว ส่วนหัวใจห้อง ventricle ยังคงพัก กินเวลาสั้นมาก ประมาณ 0.1 วินาที แล้วถึงระยะสุดท้าย คือระยะที่หัวใจห้อง ventricle บีบตัวเพื่อให้เลือดออกไปยังหลอดเลือด กินเวลาประมาณ 0.3 วินาที จากวัฎจักรหัวใจที่กินเวลา 0.8 วินาทีนี้ หัวใจห้อง atrium จะบีบตัวแค่ 0.1 วินาที ส่วนอีก 0.7 วินาทีจะอยู่ในระยะพักด้วยเหตุนี้เองผนังของหัวใจห้อง atrium จึงไม่จำเป็นต้องหนามากเหมือนผนังหัวใจห้อง ventricle
      ปริมาตรเลือดที่ออกจากหัวใจห้อง ventricle ภายใน 1 นาที เรียกว่า cardiac output ซึ่งปริมาตรดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาตรเลือดที่ออกจากหัวใจแต่ละครั้งที่หัวใจห้อง ventricle บีบตัวเรียกว่า stroke volume ซึ่งค่านี้ในคนปกติจะอยู่ประมาณ 75 มิลลิลิตร ในภาวะที่คนเรามีอัตราการเต้าของหัวใจในขณะพัก 70 ครั้งต่อนาที จะมี cardiac output ประมาณ 5.25 ลิตร/นาที ซึ่งปริมาตรเลือดนี้จะเท่า ๆ กับปริมาตรเลือดทั้งหมดภายในร่างกาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุก ๆ นาทีเลือดทุกหยดของร่างกายจะต้องผ่านหัวใจ เพราะเลือดที่ไปอวัยวะที่อยู่ใกล้หัวใจ เช่นบริเวณคอและอก จะกลับเข้าสู่หัวใจนาทีละหลายรอบ ส่วนเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณแขนและขาจะกินเวลานานกว่า และค่า cardiac output นี้อาจจะเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่าระหว่างออกกำลังกาย
ภาพที่  6  วงจรการบีบตัวของหัวใจ (cardiac cycle) 

6.  จังหวะการเต้นของหัวใจ (Heart’s rhythmic beat)

      กล้ามเนื้อหัวใจสัตว์มีกระดูกสันหลังสามารถบีบตัวหรือทำจังหวะเองได้ เรียกหัวใจชนิดนี้ว่า myogenic heart การที่หัวใจสามารถบีบตัวได้เองนี้ เนื่องจากภายในหัวใจมีบริเวณที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัว บริเวณดังกล่าวนี้คือ sinoatrial (SA) เป็นผู้ทำจังหวะ (pacemaker) อยู่ที่ผนัง atrium ขวา ใกล้กับหลอดเลือดดำใหญ่ superior vena cava (รูปที่ 7) SA node เป็นกล้ามเนื้อพิเศษเนื่องจากสามารถส่งกระแสความรู้สึกได้เช่นเดียวกับเซลล์ประสาท และกล้ามเนื้อหัวใจเองก็สามารถส่งกระแสความรู้สึกจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่งได้เนื่องจากมี intercalated disc จึงทำให้กระแสความรู้สึกจาก SA node กระจายไปทั่วกล้ามเนื้อหัวใจห้อง atrium อย่างรวดเร็ว ทำให้บีบตัวได้ ขณะเดียวกันกระแสไฟฟ้าจะไปยัง atrioventricular (AV) node ซึ่งอยู่ที่ผนัง atrium ขวากับ ventricle ขวา AV node เป็นกล้ามเนื้อพิเศษเช่นเดียวกันกับ SA node เมื่อกระแสความรู้สึกมาถึง AV node จะพักประมาณ 0.1 วินาที เพื่อให้แน่ว่าหัวใจห้อง atrium บีบตัวและปล่อยเลือดลงสู่ห้อง ventricle หมดแล้ว หัวใจห้อง ventricle จึงบีบตัว การบีบตัวของหัวใจห้อง atrium จะไม่เป็นคลื่นของการบีบตัวเช่นที่เกิดในหัวใจห้องบน แต่กล้ามเนื้อของหัวใจห้องventricle จะบีบพร้อมกันเป็นหน่วยเดียวทั้งห้องหัวใจ เนื่องจากกระแสความรู้สึกจาก AV node ส่งออกไปเร็วมากทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทั้งหมดถูกกระตุ้นให้หดตัวพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดแรงดันมากเพียงพอที่จะส่งเลือดออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้
      กระแสความรู้สึกที่เคลื่อนไปในกล้ามเนื้อหัวใจในระหว่างที่หัวใจบีบตัวนี้ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าแพร่ไปตามของเหลวภายในร่างกายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งบริเวณผิวหนังซึ่งสามารถวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดนี้ได้ที่บริเวณผิวหนัง เป็นกราฟเรียกว่า electrocardiogram (ECG หรือ EKG) ได้ graph ดังภาพที่ 7-14
      SA node ทำให้หัวใจบีบตัวหรือเต้นเองได้โดยไม่ต้องมีระบบประสาทมาควบคุมก็จริง แต่อัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับระบบประสาทอัตโนวัติ 2 ระบบคือ ระบบซิมพาเททิกจะกระตุ้นให้เต้นเร็วขึ้น และระบบพาราซิมพาเททิกจะยับยั้ง ซึ่งระบบประสาททั้งสองจะทำงานร่วมกันเพื่อให้หัวใจเต้นในอัตราปกติ อัตราการเต้นของหัวใจยังถูกควบคุมโดยฮอร์โมน เช่น เอพิเนฟริน จากต่อมหมวกไตด้านใน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น คืออุณหภูมิร่างกายซึ่งถ้าสูงขึ้น 1 0C จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น 10 ครั้งต่อนาที เช่นในเวลาเป็นไข้ และการออกกำลังกายก็ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น

ภาพที่  7  แสดงการเกิดจังหวะการเต้นของหัวใจจากเซลล์ตัวทำจังหวะ (pacemaker cells)
7.  องค์ประกอบของเลือด
      เลือดเป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งของร่างกาย แต่บางคนอาจจะจัดเอาเลือดเข้าเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันโดยมีเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ หลายชนิดลอยอยู่ในเมทริกซ์ (matrix) ที่เป็นของเหลวคือพลาสมาหรือน้ำเลือด ปกติคนเราจะมีเลือดประมาณ 4-6 ลิตร ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นพลาสมา 55% และส่วนที่เป็นเซลล์และส่วนประกอบของเซลล์ (cellular elements) 45%
      7.1  พลาสมา (Plasma)
      องค์ประกอบหลักของพลาสมา  คือ  น้ำ  ซึ่งมีประมาณ 90% ทำหน้าที่เป็นตัวทำละลายและนำพาสารต่าง ๆ และตัวละลายซึ่งประกอบด้วยเกลืออนินทรีย์หรืออิเล็กโทรไลท์ของเลือด (blood electrolyte) ซึ่งอยู่ในรูปของไอออน ความเข้มข้นของไอออนในพลาสมาเป็นตัวรักษาความสมดุลของออสโมติก (osmotic balance) และไอออนบางตัวทำให้ความเป็นกรดด่างของพลาสมาคงที่ ซึ่งของคนเราอยู่ที่ pH 7.4 และยังทำให้เซลล์แระสาทและเซลล์กล้ามหนื้อทำงานเป็นปกติอีกด้วยไอออนเหล่านี้จะมีประมาณค่อยข้างคงที่โดยจะมีไตเป็นผู้ควบคุมอีกที่หนึ่ง
      องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างของพลาสมาคือ โปรตีน ซึ่งมีประมาณ 7-9 % โปรตีนเหล่านี้ช่วยในการรักษาความสมดุลของออสโมติก ความเป็นกรดด่าง และความหนืดของพลาสมา โปรตีนแต่ละชนิดก็จะทำหน้าที่เฉพาะซึ่งแตกต่างกันออกไป เช่นบางตัวทำหน้าที่เป็นตัวขอส่งลิปิดซึ่งไม่ละลายน้ำ ทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมและเชื้อต่าง ๆ เช่นในกรณีของอิมมูโนโกลบูลิน และช่วยในการแข็งตัวของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล เช่น ไฟบริโนเจน ถ้าพลาสมาที่ปราศจากสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวนี้เรียดว่า เซรุ่ม (serum) นอกจากนี้พลาสมายังประกอบด้วยสารอาหารชนิดต่าง ๆ รวมทั้งกรดแลกติก ซึ่งได้จากการ glycolysis ของกล้ามเนื้อ และพวกของเสียที่ได้จากการแมเทบอลิซึม พวกฮอร์โมน และแก๊ส เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจน ซึ่งในสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ออกซิเจนจะไปกับเม็ดเลือดแดงมากกว่าละลายไปในพลาสมา องค์ประกอบของพลาสมาและองค์ประกอบของของเหลวในร่างกายจะคล้ายคลึงกัน แต่ในพลาสมาจะมีปริมาณโปรตีนมากกว่า เนื่องจากว่าผนังของหลอดเลือดฝอยยอมให้โปรตีนผ่านน้อยมาก แต่ถ้าหลุดออกมา ระบบน้ำเหลืองก็จะช่วยส่งโปรตีนดังกล่าวกลับเข้าสู่พลาสมาดังกล่าวมาแล้ว
      7.2  Cellular elements
      ส่วนประกอบของเลือดที่เป็นเซลล์และส่วนประกอบของเซลล์ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด
      7.3  เม็ดเลือดแดง (erythrocyte)
      เป็นเม็ดเลือดที่มีปริมาณมากที่สุด ของคนเรามีประมาณ 5-6 ล้านเม็ดต่อปริมาณเลือด 1 มิลลิลิตร ดังนั้นในคนเรามีเลือด 5 ลิตร จึงมีเม็ดเลือดแดงถึง 25 ล้านล้าน (25 trillions) เม็ดเลือดแดงคนเรามีลักษณะกลม แบนเว้าหน้าเว้าหลัง ตรงกลางบางกว่าตรงขอบเมื่อโตเต็มที่ไม่มีนิวเคลียส (ในสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ เช่น กบ เม็ดเลือดแดงมีนิวเคลียส) เม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดบรรจุฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ได้ 250 ล้านโมเลกุล (ที่บรรจุได้มากเช่นนี้อาจจะเนื่องจากไม่มีนิวเคลียส) ฮีโมโกลบิน 1 โมเลกุลประกอบด้วยด้วยโกลบูลิน และฮีม (heme) 4 heme มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ ฮีโมโกลบินจับได้ทั้งออกซิเจนและไนตริกออกไซด์ เมื่อเม็ดเลือดแดงไปที่ปอดหรือบริเวณที่แลกเปลี่ยนแก๊ส ฮีโมโกลบินจะจับแก๊สทั้งสองแล้วนำไปยังเซลล์ เมื่อถึงเซลล์จะปล่อยออกซิเจนให้เซลล์ซึ่งไนตริกออกไซด์ที่จับไปด้วยนี้ จะเป็นตัวช่อยให้ผนังของหลอดเลือดฝอยขยายออก ทำให้ออกซิเจนออกสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น เม็ดเลือดแดงของคนเราจะอยู่ในระบบไหลเวียนเป็นเวลา 3-4 เดือน หลังจากนั้นจะถูกทำลายที่ตับและม้าม หรือที่ต่อมน้ำเหลืองโดยวิธี phagocytosis
      ในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด เช่น arthropods, mollusks ตัวทำหน้าที่จับและขนส่งออกซิเจนคือฮีโมไซยานิน ซึ่งมีทองแดงเป็นองค์ประกอบ และละลายอยู่ในน้ำเลือดแทนที่จะอยู่ในเม็ดเลือด เมื่อฮีโมไซยานินจับออกซิเจนจะให้สีน้ำเงินแทนที่จะเป็นสีแดงเข้มเหมือนในกรณีของของฮีโมโกลบิน การที่ฮีโมโกลบินอยู่ในเม็ดเลือดจะได้เปรียบกว่าละลายอยู่ในน้ำเลือด เนื่องจากเม็ดเลือดมีปริมาณค่อนข้างคงที่ จึงไม่มีผลกระทบต่อความดันออสโมติดของน้ำเลือด
      7.4  เม็ดเลือดขาว (leukocyte)
      เม็ดเลือดขาวมี 5 ชนิดคือ monocyte, neutrophil, basophil, eosinophil และ lymphocyte เม็ดเลือดขาวส่วนใหญ่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันร่างกาย เช่น monocyte และ neutrophil ทำหน้าที่จับและทำลายบักเตรีที่เข้ามาในร่างกาย จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า phagocyte ส่วน lymphocyte จะกลายเป็นทั้ง B และ T cell ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างแอนติบอดีเม็ดเลือดขาวส่วนใหญ่จะอยู่นอกระบบไหลเวียนเลือด พบตามของเหลวในร่างกายและระบบน้ำเหลือง โดยเฉพาะที่ต่อมน้ำเหลือง คนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000 – 10,000 เม็ดต่อปริมาตรเลือด 1 มิลลิลิตร และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายมีเชื้อโรค
      7.5  เกร็ดเลือด (blood platelet)
      เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของเซลล์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ไมโครมิลลิเมตร เกิดจากชิ้นส่วนของไซโตพลาสซึมของเซลล์ในไขกระดูก แล้วออกสู่กระแสเลือดมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อเกิดบาดแผล คนปกติจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 250,000 – 400,000 ชิ้น ต่อปริมาตรเลือด 1 มิลลิลิตร ในสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ เช่น สัตว์เลื้อยคลาย ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดไม่เป็นเกร็ดเลือดเหมือนของคนเรา แต่จะเป็นเซลล์ เรียกว่า ทรอมโบไซต์ (thrombocyte)
      เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เจริญมาจากเซลล์ เซลล์ตั้งต้นเดียวกันคือ pluripotent stem cell ในไขกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกอก และกระดูกเชิงกราน เซลล์ตั้งต้นนี้เริ่มมีตั้งแต่ตอนเป็นเอมบริโอ โดยจะแยกเป็น stem cell ย่อย 2 กลุ่มคือ lymphocyte stem cell ซึ่งจะเจริญไปเป็น lymphocyte ประกอบด้วย B-cell และ T-cell ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน และ myeloid stem cell ซึ่งจะเจริญไปเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด
      เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดจะถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่ตลอดอายุขัยของคนเรา เม็ดเลือดแดงประมาณ 2 ล้านเซลล์จะถูกทำลายและถูกสร้างขึ้นใหม่ทุก ๆ วินาทีและปริมาณเม็ดเลือดแดงจะค่อยข้างคงที่ ปัจจัยสำคัญที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดงคือปริมาณออกซิเจนในเลือด ถ้าปริมาณออกซิเจนในเลือดน้อยลง จะไปกระตุ้นให้ไตเปลี่ยนโปรตีนชนิดหนึ่งในพลาสมาให้เป็นฮอร์โมน erythropoietin ซึ่งจะไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เมื่อปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มจำนวนขึ้นเพียงพอก็จะหยุดกระตุ้น ซึ่งกลไกควบคุมดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างของกลไกควบคุมย้อนกลับแบบลบนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

THE ENDOCRINE SYSTEM

THE ENDOCRINE SYSTEM Contents Hormones Evolution of Endocrine Systems Endocrine Systems and Feedback Mechanisms of Hormone Action ...