วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2556

4.5 อาณาจักรสัตว์






5 อาณาจักรสัตว์
           ก่อนเรียน ให้นักเรียนศึกษาภาพต่อไปนี้
           ภาพสิ่งมีชีวิต
           จากภาพสิ่งมีชีวิตที่นักเรียนตามภาพเป็นพืชหรือสัตว์ นักเรียนมีเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาว่าสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นพืชหรือสัตว์ และสัตว์ที่นักเรียนรู้จักมีสัตว์ชนิดใดบ้างและสัตว์นั้นมีลักษณะรูปร่างอย่างไร
           ข้อสรุปหลังอภิปรายร่วมกัน
           "ภาพที่เห็นเป็นภาพสัตว์ ซึ่งสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้เหมือนพืช มีการเคลื่อนไหวเพื่อรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดีเป็นสิ่งมีชีวิตที่พบทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำเค็มและบนบก มีรูปร่างแตกต่างกันบางชนิดมีขนาดเล็กจนกระทั่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่บางชนิดมีลำตัวใหญ่มาก"
          สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) มีวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษร่วมกัน
           นักเรียนบอกได้หรือไม่ว่าสัตว์มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษกลุ่มใด
           กำเนิดสัตว์
           จากข้อมูลเกี่ยวกับกำเนิดของสัตว์ และข้อมูลจากตารางธรณีกาลที่นักเรียนศึกษามาแล้วให้นักเรียนร่วมกันสืบค้นข้อมูล อภิปราย โดยใช้ตัวอย่างคำถามดังนี้
           1.  สัตว์กลุ่มแรกกำเนิดขึ้นมาในยุคใด ?
           คำตอบ  ยุคแคมเบรียน

           2.  นักเรียนคิดว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เอื้ออำนวยให้สัตว์มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในยุคแคมเบรียน ?
           คำตอบ  ยุคแคมเบรียนเริ่มมีแก๊สออกซิเจนมากเพียงพอที่สัตว์จะใช้ในการหายใจ  หาอาหาร และเคลื่อนที่  เริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่าและเหยื่อ ทำให้สัตว์มีวิวัฒนาการในการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสัตว์อย่างรวดเร็ว

           3.  สัตว์น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษกลุ่มใด ?
           คำตอบ  น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษพวกแฟลเจลเลต

           4.  สิ่งมีชีวิตกลุ่มสัตว์มีลักษณะอย่างไร ?
           คำตอบ  สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มยูคาริโอตที่มีหลายเซลล์ที่ประกอบกันเป็นเนื้อเยื่อ เซลล์จะยึดติดกันด้วยโปรตีนคอลลาเจน มีการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้า สามารถเคลื่อนไหวโดยการทำงานของเนื้อเยื่อประสาทและกล้ามเนื้อ

           5.  เพราะเหตุใดสัตว์จึงดำรงชีวิตเป็นผู้ล่าในระบบนิเวศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ?
           คำตอบ  มีการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ดี สามารถเคลื่อนไหวโดยการทำงานร่วมกันของเนื้อเยื่อประสาทและกล้ามเนื้อ

           ข้อสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำเนิดสัตว์
           นักวิทยาศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า สัตว์น่าจะมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 1,000 ถึง 580 ล้านปีที่ผ่านมา แต่พบหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์น้อยมาก อาจเป็นไปได้ว่าสัตว์ที่ขึ้นในยุคแรก ๆ น่าจะมีร่างกายอ่อนนุ่ม ไม่มีโครงสร้างแข็งแรงจึงไม่ปรากฏร่องรอยในซากดึกดำบรรพ์ แต่จะพบซากดึกดำบรรพ์จำนวนมากในช่วงเวลาประมาณ 540 ล้านปี ระหว่างปลายมหายุคพรีแคมเบรียนและตอนต้นของยุคแคมเบรียน โดยซากดึกดำบรรพ์ที่พบในยุคแรก ๆ เป็นซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ในไฟลัมไนดาเรียที่เหมือนไฮดราในปัจจุบันและสัตว์ในไฟลัมมอลลัสคาที่มีลำตัวอ่อนนุ่มและจากหลักฐานต่าง ๆ สนับสนุนแนวความคิดที่ว่าสัตว์น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษพวกแฟลเจลเลต
                ภาพลิ่นทะเลเป็นสัตว์ในไฟลัมมอลลัสคาโบราณที่ยังมีชีวิตอยู่  (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 207)
           จากข้อสรุปเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์ที่เกิดมาจนกระทั่งมีสัตว์จำนวนมากในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตกลุ่มสัตว์ควรมีลักษณะอย่างไร ให้นักเรียนร่วมกันอภิปราย และสรุปลักษณะของสัตว์
           ลักษณะของสัตว์
           สรุป
           1.  สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มยูคาริโอตที่มีหลายเซลล์
           2.  เซลล์จะยึดและเกาะติดกันด้วยโปรตีน คอลลาเจน (collagen)
           3.  สัตว์มีการเรียนรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้า รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวโดยการทำงานของเนื้อเยื่อประสาทและกล้ามเนื้อ
           4.  สัตว์ดำรงชีวิตเป็นผู้บริโภคในระบบนิเวศ

           ความหลากหลายของสัตว์
           ในปัจจุบันสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์มีจำนวนมากและได้แบ่งออกเป็นไฟลัมต่าง ๆ ดังภาพที่ 20-97
                ภาพสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอาณาจักรสัตว์ (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 208)
           จากภาพ ให้นักเรียนได้สืบค้นข้อมูลการจำแนกสัตว์ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามสายวิวัฒนาการใน และให้นักเรียนได้ศึกษาเกณฑ์ที่ใช้จำแนกสัตว์ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ เนื้อเยื่อ ลักษณะสมมาตร การเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์และการเจริญในระยะตัวอ่อน แล้วให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายโดยใช้ตัวอย่างคำถามดังนี้
           1.  สัตว์ในกลุ่มใดที่ไม่มีเนื้อเยื่อแท้จริง ?
           คำตอบ  ฟองน้ำ

           2.  สัตว์ที่มีสมมาตรแบบสองซีกและสัตว์ที่มีสมมาตรแบบรัศมีมีลักษณะการดำรงชีวิตเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
           คำตอบ  สัตว์ที่มีสมมาตรแบบสองซีกมีการพัฒนาส่วนหัวเป็นศูนย์รวมของระบบประสาท และอวัยวะรับสัมผัสทำให้เคลื่อนที่หาอาหารและหลบหลีกศัตรูได้ดี สัตว์ที่มีสมมาตรแบบรัศมี ส่วนใหญ่มีการดำรงชีวิตแบบเกาะอยู่กับที่

           3.  สัตว์ในกลุ่มโพรโทสโทเมียมีการเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์แตกต่างจากสัตว์ในกลุ่มดิวเทอโรสโทเมียอย่างไร ?
           คำตอบ  สัตว์ในกลุ่มโพรโทสโทเมียมีการเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์เป็นช่องปาก แต่สัตว์กลุ่มดิวเทอโรสโทเมียมีการเปลี่ยนแปลงเป็นทวารหนัก

           เกณฑ์ในกาสรจำแนกกลุ่มของสัตว์
           จากสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอาณาจักรสัตว์มีเกณฑ์ในการจำแนกสัตว์ออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ โดยพิจารณาลักษณะต่างของสัตว์ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสารชีวโมเลกุล ดังนี้
           1.  เนื้อเยื่อ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
                1.1 กลุ่มที่ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ได้แก่ ฟองน้ำ
                1.2 กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์ส่วนใหญ่
           2.  ลักษณะสมมาตร (symmetry) สมมาตรของสัตว์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
                2.1 สมมาตรแบบรัศมี (radial symmetry) สัตว์ที่มีร่างกายแบ่งออกสองซีกตามแนวรัศมีที่เหมือนกัน
                2.2 สมมาตรแบบด้านข้าง (bilateral symmetry) ซึ่งพบในสัตว์ส่วนใหญ่ โดยมีร่างกายแบ่งออกเป็นสองซีกตามระนาบที่เหมือนกันทุกประการ
                ภาพลักษณะสมมาตร ก. สมมาตรแบบรัศมี ข. สมมาตรแบบด้านข้าง
                สัตว์ที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง มีการพัฒนาส่วนหัวเป็นศูนย์รวมของเนื้อเยื่อประสาทและอวัยวะรับสัมผัส ทำให้สัตว์เหล่านี้เคลื่อนที่หาอาหารและหลบหลีกศรัตรูได้ดี ขณะที่สัตว์ที่สมมาตรแบบรัศมีส่วนใหญ่ดำรงชีวิตแบบเกาะอยู่กับที่ เช่น ปะการัง ซีแอนีโมนี เป็นต้น
           3. การเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์ (blastopore) พบเฉพาะสัตว์ที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง มี 2 แบบ คือ
                3.1 แบบโพรโทสโทเมีย (Protostomia) เป็นพวกที่บลาสโทพอร์เปลี่ยนเป็นช่องปาก
                           3.2 แบบดิวเทอโรสโทเมีย (Deuterostomia) เป็นพวกที่บลาสสโทพอร์เปลี่ยนเป็นทวารหนัก ดังภาพที่ 20-99
                   ภาพการเปลี่ยนแปลงของบลาสโทพอร์ ก. โพรโทสโทเมีย ข. ดิวเทอโรสโทเมีย(ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 209)
           4. การเจริญในระยะตัวอ่อน พบในสัตว์กลุ่มที่มีช่องปากแบบโพรโทสโทเมีย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
                4.1 กลุ่มที่มีระยะตัวอ่อนแบบโทรโคฟอร์ (Trochopore) พบในสัตว์พวกหนอนตัวแบน ไส้เดือน ปลิง หอย และหมึก
                4.2 กลุ่มที่มีระยะตัวอ่อนแบบเอคไดโซซัว (Ecdysozoa) เป็นกลุ่มที่มีการลอกคราบขณะเจริญเติบโต พบในสัตว์พวกหนอนตัวกลม และสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา
           สัตว์ในปัจจุบันที่พบและมีการจำแนกชนิดแล้วมีมากกว่า 1.5 ล้านสปีชีส์ พบได้ทุกหนทุกแห่งบนโลก แม้ว่ากำเนิดของสัตว์ในระยะแรกจะอาศัยอยู่ในน้ำ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมบนพื้นดินมีความเหมาะสมทำให้สัตว์บางกลุ่มประสบความสำเร็จในการวิวัฒนาการมาดำรงชีวิตอยู่บนพื้นดิน
           กิจกรรมเสนอแนะ
           จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถ
           1. สืบค้นข้อมูลเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์
           2. ระบุความสำคัญของสัตว์แต่ละไฟลัม ประโยชน์ และโทษต่อมนุษย์
           3. ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และระบบนิเวศ

           แนวการจัดกิจกรรม
           ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ จากนั้นนำเสนอข้อมูลในชั้นเรียน หรือจัดทำป้ายนิเทศเพื่อเผยแพร่ให้เพื่อนนักเรียนทราบ และตอบคำถามดังนี้

           1. ฟองน้ำมีบทบาทต่อระบบนิเวศอย่างไร
           แนวตอบ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กและเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น หอย ปลาเป็นต้น

           2. นักเรียนคิดว่าสัตว์ในไฟลัมไนดาเรียมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศในทะเลอย่างไร จงอภิปราย ?
           แนวตอบ สัตว์ไฟลัมไนดาเรียนอกจากมีบทบาทเป็นผู้บริโภคในระบบนิเวศแล้ว และยังเป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ นอกจากนี้ ปะการัง กัลปังหาและซีแอนีโมนีที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในระบบนิเวศใต้ทะเลยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ป้องกันอันตรายและเป็นที่เพาะพันธุ์ของสัตว์ทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์

           3. นักเรียนคิดว่าเพราะเหตุใด พยาธิตัวตืดจึงไม่มีทางเดินอาหาร ?
           แนวตอบ พยาธิตัวตืดไม่มีทางเดินอาหารเนื่องจากดำรงชีวิตเป็นปรสิต ซึ่งดูดซึมอาหารจากโฮสต์โดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องมีทางเดินอาหาร

           4. สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคากลุ่มใดที่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอกและชนิดใดไม่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก ?
           แนวตอบ หอยทาก หอยกาบ หอยงวงช้างมีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก ทากเปลือย หมึกต่าง ๆ ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก เป็นต้น

           5. สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคามีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร ?
           แนวตอบ สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคาบางชนิด เช่น หมึก หอยสองฝา เป็นผู้ล่าที่สำคัญในระบบนิเวศหอยบางชนิดจะกัดกินต้นข้าวทำให้เกิดความเสียหาย บางชนิดเป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ และหอยบางชนิดกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นเป็นอาหาร ทำให้เกิดการหมุนเวียนสารในระบบนิเวศเป็นต้น

           6. สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคากลุ่มใดที่มีการปรับตัวมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน ?
           แนวตอบ หอยทาก เป็นสัตว์ในไฟลัมมอลลัสคาที่ปรับตัวมาอาศัยอยู่บนบก

           7. ปลิงและทากมีการดำรงชีวิตแตกต่างจากไส้เดือนดินอย่างไร ?
           แนวตอบ ปลิงและทากดำรงชีวิตเป็นปรสิตชั่วคราวโดยการดูดเลือดของสัตว์อื่นรวมทั้งคน แต่ไส้เดือนดินดำรงชีวิตโดยการกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร

           8. ไส้เดือนดินมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร ?
           แนวตอบ ไส้เดือนดินช่วยทำให้ดินมีอากาศแทรกมีความพรุนมากมีลักษณะร่วนซุยและช่วยหมุนเวียนสารในระบบนิเวศโดยกินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขับถ่ายออกมาจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

           9. สัตว์ในไฟลัมนีมาโทดมีบทบาทต่อมนุษย์อย่างไร ?
           แนวตอบ สัตว์ในไฟลัมนีมาโทดส่วนใหญ่เป็นปรสิตที่สำคัญของมนุษย์

           10. นักเรียนคิดว่าลักษณะใดที่ทำให้สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาประสบความสำเร็จในการอาศัยอยู่บนบก ?
           แนวตอบ ลักษณะที่ทำให้สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตบนบก คือ ลักษณะลำตัวมีเปลือกแข็งหุ้มภายนอกและเปลือกแข็งประกอบด้วยสารไคทิน ทำให้สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำได้ดี

           11. เพราะเหตุใดจึงจัดแมงดาทะเลเป็นสัตว์โบราณ ?
           แนวตอบ เพราะแมงดาทะเลเริ่มปรากฏในยุคออร์โดวิเชียนจนถึงปัจจุบันและมีรูปร่างปรับเปลี่ยนจากเดิมไม่มากนัก

           12. นักเรียนคิดว่าควรมีวิธีการอนุรักษ์แมงดาทะเลได้อย่างไร
           แนวตอบ การอนุรักษ์แมงดาทะเล อาจทำได้โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวไทยได้รู้จักแมงดาทะเล ซึ่งพบในประเทศไทยถึง 2 ชนิด จากจำนวน 4 ชนิดในโลก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของแมงดาทะเลที่มีต่อระบบนิเวศ ควรรณรงค์การอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดาทะเล และรณรงค์ให้เลิกบริโภคไข่ของแมงดาทะเลและเพาะพันธุ์แมงดาทะเลเพื่อขยายพันธุ์ เป็นต้น

           13. แมงมุม และแมงป่อง มีบทบาทอย่างไรในระบบนิเวศ ?
           แนวตอบ มีบทบาทเป็นผู้ล่าที่สำคัญในระบบนิเวศ แมงมุมบางชนิดเป็นตัวห้ำ ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช

           14. ตะขาบและกิ้งกือมีบทบาทต่อการหมุนเวียนสารในระบบนิเวศอย่างไร ?
           แนวตอบ ช่วยกินซากพืช ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในดินและยังเป็นอาหารของสัตว์อื่น

           15. แมลงมีการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุคใดและมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นอย่างไร ?
           แนวตอบ แพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุคคาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน โดยมีลักษณะปากที่เหมาะสมต่อการกินพืชเมล็ดเปลือยซึ่งเป็นพืชกลุ่มเด่นในยุคนั้น

           16. นักเรียนคิดว่าการเพิ่มจำนวนของแมลงน่าจะมีผลต่อวิวัฒนาการของพืชดอกหรือไม่อย่างไร ?
           แนวตอบ น่าจะมีผลต่อวิวัฒนาการของพืชดอก เพราะแมลงช่วยในการถ่ายละอองเรณู

           17. นักเรียนคิดว่าแมลงมีประโยชน์และโทษอะไรบ้าง จงอภิปราย ?
           แนวตอบ แมลงมีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยผสมเกสรของพืชดอก เป็นสิ่งประดับสวยงาม และแมลงหลายชนิดนำมาใช้กินเป็นอาหาร ขณะเดียวกันแมลงก็มีโทษหลายด้าน เช่น เป็นศัตรูทำลายผลผลิตทางการเกษตร เป็นพาหะนำโรคหลายชนิดรวมทั้งเป็นปรสิตในคนและสัตว์อื่น

           18. การกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยการควบคุมแบบชีววิธีมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างไร ?
           แนวตอบ การควบคุมโดยชีววิธีมีผลดีต่อระบบนิเวศ คือไม่ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และไม่เกิดมลภาวะในระบบนิเวศ

           19. จงยกตัวอย่างการควบคุมแมลงศัตรูพืชและสัตว์ด้วยการควบคุมโดยชีววิธี ?
           แนวตอบ ตัวอย่างเช่น การกำจัดลูกน้ำด้วยปลาหางนกยูง การกำจัดมวนลำไยด้วยแตนเบียน

           20. สัตว์ในคลาสครัสเตเชียมีลักษณะแตกต่างจากสัตว์กลุ่มอื่นในไฟลัมอาร์โทรโพดาอย่างไร ?
           แนวตอบ เป็นสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาที่มีหนวด 2 คู่ ขณะที่สัตว์กลุ่มอื่นในไฟลัมนี้มีหนวด 1 คู่

           21. สัตว์ในคลาสครัสเตเชียมีบทบาทสำคัญอย่างไรบ้าง จงอภิปราย ?
           แนวตอบ สัตว์กลุ่มนี้เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากนิยมนำมาใช้รับประทานเป็นอาหารและมีคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม โดยเป็นส่วนหนึ่งของสายใยอาหาร

           22. สัตว์ในไฟลัมเอคไคโนเดอร์มาตามีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร ?
           แนวตอบ สัตว์ในไฟลัมเอคไคโนเดอร์มาตาบางชนิด เช่น ดาวมงกุฎจะทำลายแนวปะการัง ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ

           กลุ่มที่ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง
           ไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera)
           สัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมนี้มีโคตรงสร้างของร่างกายไม่ซับซ้อน ไม่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง ลำตัวมีช่องให้น้ำเข้าขนาดเล็กและช่องน้ำออกขนาดใหญ่ (ดังภาพที่ 20-100) ตัวเต็มวัยมักเกาะอยู่กับที่สามารถรับรู้และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ ตัวอย่างของสัตว์ในกลุ่มนี้ได้แก่ ฟองน้ำแก้ว ฟองน้ำหินปูน และฟองน้ำถูตัว (ความแตกต่างของฟองน้ำแต่ละชนิดอยู่ที่ โครงร่างค้ำจุนที่เรียกว่า สปิคุล (spicule) ที่แทรกอยู่ในตัวฟองน้ำซึ่งใช้จำแนกชนิดของฟองน้ำ)
ภาพฟองน้ำ ก. ภาพถ่ายฟองน้ำ ข. ภาพวาดแสดงช่องน้ำเข้าและน้ำออก (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 210)
           ฟองน้ำที่เกาะอยู่กับที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น ๆ ที่มีขนาดเล็ก หรืออาจเจริญเติบโตอาศัยเกาะอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่น โดยเฉพาะในแนวปะการังจะพบฟองน้ำเจริญเติบโตอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ฟองน้ำยังเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น หอยฝาเดียวและปลาบางชนิด
กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง
           กลุ่มที่มีเนื้อเยื่อที่แท้จริง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะสมมาตร คือ กลุ่มที่มีสมมาตรแบบรัศมีและกลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง
           ก. กลุ่มที่มีสมมาตรแบบรัศมี
           ไฟลัมไนดาเรีย (Plylum Cnidaria)
           สัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมไนดาเรียเป็นกลุ่มของสัตว์ที่มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม มีบางชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดได้แก่ ไฮดรา แมงกะพรุน ซีแอนีโมนี ปะการัง กัลปังหา
                ภาพ สัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย ก. ปะการังอ่อน ข. ปะการังสมอง ค. แมงกะพรุน ง. กัลปังหา (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 211
           สัตว์ในไฟลัมนี้มีรูปร่าง 2 แบบ คือ แบบโพลิบ (polyps) ซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายทรงกระบอกและแบบเมดูซา (medusa) มีรูปร่างลักษณะคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ มีช่องเปิดออกจากลำตัวช่องเดียว มีการล่าเหยื่อ โดยใช้เทนทาเคิล (tentacle) ที่เรียงอยู่รอบช่องปากซึ่งมีไนโดไซต์ (cnidocyte) เมื่อมีเหยื่อมาสัมผัสไนโดโซต์จะปล่อยเข็มพิษใช้จับเหยื่อหรือป้องกันตัว
                ภาพ ไฮดรา ก. ภาพถ่าย ข. ภาพวาดโครงสร้างและลักษณะของไนโดไซต์ (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 211)
           นักเรียนคิดว่าสัตว์ในไฟลัมไนดาเรียมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศในทะเลอย่างไร จงอภิปราย
           แนวตอบ
           สัตว์ในไฟลัมไนดาเรียนอกจากมีบทบาทเป็นผู้บริโภคในระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ นอกจากนี้ ปะการัง กัลปังหาและซีแอนีโมนีที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในระบบนิเวศใต้ทะเลยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ป้องกันอันตรายและเป็นที่เพาะพันธุ์ของสัตว์ทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์

           หอยและหนอนตัวแบนบางชนิดกินสัตว์ในกลุ่มนี้เป็นอาหารและบางชนิด เช่น แมงกะพรุนเป็นอาหารของคน บางชนิดดำรงชีวิตแบบภาวะพึ่งพากับกับสิ่งมีชีวิต เช่น ปูเสฉวนที่นำซีแอนีโมนีมาไว้บนเปลือกเพื่อป้องกันตัว พวกปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตหลักที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล เพราะทำหน้าที่เป็นกำแพงธรรมชาติ ลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมและกระแสน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแพร่กระจายพันธุ์ของสัตว์ทะเล
                ภาพที่ 20-103 ความสำคัญของสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย ซีแอนีโมนีกับปลาการ์ตูนและปลาในแนวปะการัง
           ข. กลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง
           กลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโพรโมสโทเมีย และกลุ่มดิวเทอโรสโทเมีย
           1. กลุ่มโพรโมสโทเมีย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่มีตัวอ่อนแบบโทรโคฟอร์และกลุ่มที่มีตัวอ่อนแบบลอกคราบ
           1.1 โพรโมสโทเมียและตัวอ่อนแบบโทรโคฟอร์
           ไฟลัมแพลทีเฮลมินทิส (Phylum Platyhelminthes)
           สัตว์ในไฟลัมนี้บางชนิดดำรงชีวิตเป็นอิสระ เช่น พลานาเรีย แต่ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตเป็นปรสิต เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด เป็นต้น
           ลักษณะของสัตว์ในไฟลัมนี้มีลำตัวแบนบางจึงเรียกว่า หนอนตัวแบน (flat worm) มีขนาดแตกต่างกันบางกลุ่มไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและบางกลุ่มยางถึง 20 เมตร เช่น พยาธิตัวตืด เป็นต้น
           หนอนตัวแบนมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ ดังภาพที่ 20-104 ก. และไม่มีช่องตัว (noncoelom) คือ ไม่มีช่องว่างระหว่างผนังลำตัวและผนังทางเดินอาหาร ดังภาพที่ 20-104 ข.

                ภาพหนอนตัวแบบ ก. ภาพถ่ายแสดงทางเดินอาหาร ข. ภาพวาดภาคตัดขวางลำตัว (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 212)
           เพราะเหตุใด พยาธิตัวตืดจึงไม่มีทางเดินอาหาร ?
           คำตอบ พยาธิตัวตืดไม่มีทางเดินอาหารเนื่องจากดำรงชีวิตเป็นปรสิต ซึ่งดูดกซึมอาหารจากโฮสต์โดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องมีทางเดินอาหาร

           กลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโพรโมสโทเมีย และกลุ่มดิวเทอโรสโทเมีย
           ไฟลัมมอลลัสคา (Phylum Mollusca)
           คำถามก่อนเรียน ให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์คำถามต่อไปนี้ แล้วช่วยกันสืบค้นข้อมูล นำมาอภิปรายและสรุปในลำดับต่อไป
           สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคากลุ่มใดที่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก ชนิดใดไม่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก
           คำตอบ หอยทาก หอบกาบ หอบงวงช้าง มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก ส่วน ทากเปลือย หมึกต่าง ๆ ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก

           กลุ่มของสัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมนี้ได้แก่ หอย หอยทาก ทากเปลือย หอยนางรม หอยกาบ หอยงวงช้าง หมึกยักษ์ หมึกกระดองและหมึกกล้วย ดังภาพ
                ภาพสัตว์ในไฟลัมมอลลัสคา ก. หอยเชอรี่ ข. หอยงวงช้าง ค. หอยมือเสือ ง. หอยแครง จ. หอยนางรม ฉ. หมึกกระดอง  (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 213)
           สัตว์ในไฟลัมนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล มีบางชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดและบนพื้นดิน เป็นสัตว์ที่มีลำตัวนิ่มแต่สามารถสร้างเปลือกแข็งที่มีสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตหุ้มลำตัว มีแมนเทิล (mantle) ทำหน้าที่สร้างเปลือกหุ้มลำตัว มีการไหลเวียนของน้ำเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊สโดยใช้เหงือก มีทวารหนักและรูขับถ่าย บางชนิด เช่น หมึกกล้วย หมึกยักษ์ไม่มีเปลือกแข็งเนื่องจากเปลือกแข็งจะหายไปในระหว่างการเกิดวิวัฒนาการ
                ภาพโครงสร้างของสัตว์ไฟลัมมอลลัสคา ก. ภาพถ่ายหอยทากยักษ์ ข. ภาพวาด  (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 213)
           สัตว์ในไฟลัมนี้มีการดำรงชีวิตหลายแบบ บางชนิดกินพืช เช่น หอยเชอรี่กัดกินต้นข้าว ทำให้ข้าวในนาเสียหายมาก บางชนิดกินสัตว์ เช่น หมึก เป็นผู้ล่าสัตว์อื่น หอยสองฝากินทั้งพืช สัตว์และแพลงก์ตอน
           หอยและหมึก มีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของอาหาร เช่น หอยแมลงภู่ หอยแครง หอบลาย หอยขม และหมึกเป็นต้น ส่วนของเปลือกหอยนิยมมาบดเป็นอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังพบว่าหอยบางชนิดอาจทำอันตรายแก่มนุษย์ได้ เช่น หอยเต้าปูน มีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะคล้ายเข็มและมีถุงน้ำพิษ ทำให้คนถูกพิษเป็นอัมพาตและหอยน้ำจืดหลายชนิด เช่น หอยโข่ง หอยขม เป็นพาหะนำพยาธิมาสู่คน

           สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคากลุ่มใดที่มีการปรับตัวมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน
           คำตอบ หอยทากเป็นสัตว์ในไฟลัมมอลลัสคาที่ปรับตัวมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน

           ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida)
           สัตว์ในไฟลัมนี้อาศัยอยู่ในทะเล น้ำจืดและบนดินในบริเวณที่ชื่นแฉะ เช่น แม่เพรียง ไส้เดือนดิน ปลิงน้ำจืด ทากดูดเลือด เป็นต้น
           ลักษณะสัตว์ในไฟลัมนี้ ลำตัวแบ่งออกเป็นปล้องเห็นได้ชัดเจน ภายในมีเยื่อกั้นดังภาพ

                ภาพลักษณะของสัตว์ในไฟลัมแอนเนลิดา ก. ภาพวาดโครงสร้างภายใน ข. ภาพถ่ายไส้เดือนดิน (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 214)
           ปลิงและทาก เป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิตชั่วคราว โดยการดูดเลือดของสัตว์อื่นรวมทั้งคน เมื่อใช้เขี้ยวกัดผิวหนังโฮสต์ปลิงและทากจะปล่อยสารคล้ายยาชาทำให้ไม่รู้สึกเจ็บและปล่อยสาร ฮรูดิน (hirudin) เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดของโฮสต์แข็งตัว
           ไส้เดือนดินเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดินโดยการขุดรูอยู่ในดินทำให้ดินเป็นโพรง อากาศจึงแทรกเข้าไปในดินได้ มีส่วนช่วยให้จุลินทรีย์ในดินมีกิจกรรมมากขึ้น และนอกจากนี้ไส้เดือนดินยังกินสารอินทรีย์ ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหารและกากอาหารที่ขับถ่ายออกมาจะเป็นปุ๋ยแก่พืชและทำให้ดินร่วนซุย

           ให้นักเรียนร่วมกันวิเคราะห์ อธิบาย คำถามต่อไปนี้
           1. ปลิงและทากมีการดำรงชีวิตแตกต่างจากไส้เดือนดินอย่างไร ?
           คำตอบ ปลิงและทากดำรงชีวิตเป็นปรสิตชั่วคราวโดยการดูดเลือดของสัตว์อื่นรวมทั้งคน แต่ไส้เดือนดินดำรงชีวิตโดยการกินซากสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร
           2. ไส้เดือนดินมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร ?
           คำตอบ ไส้เดือนดินช่วยทำให้ดินมีอากาศแทรกมีความพรุนมากมีลักษณะร่วนและซุยช่วยหมุนเวียนสารในระบบนิเวศโดยกินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขับถ่ายออกมาจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
           1.2 กลุ่มโพรโมสโทเมียและตัวอ่อนมีการลอกคราบ
           ไฟลัมนีมาโทดา (Phylum Nematoda)
           สัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมนีมาโทดาเป็นสัตว์ที่พบอยู่ทั่วไปทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำเค็มและดินชื้นแฉะ เป็นสัตว์ที่มีลำตัวรูปทรงกระบอก ไม่มีปล้องบริเวณลำตัว จึงเรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า หนอนตัวกลม (round worm) มีคิวทิเคิลห่อหุ้มร่างกายทำให้มีการลอกคราบในระหว่างการเจริญเติบโต หนอนตัวกลมมีทางเดินอาหารสมบูรณ์ ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด ลำเลียงสารอาหารโดยของเหลวภายในช่องตัวเทียม (pseudocoelom) พบเฉพาะกล้ามเนื้อตามยาว
                ภาพลักษณะของหนอนตัวกลม
           ช่องตัว (coelom) หมายถึง ช่องว่างระหว่างผนังลำตัวและอวัยวะภายในของตัวสัตว์ แบบแผนการเกิดช่องตัวในเอ็มบริโอของสัตว์แตกต่างกัน พวกที่มีช่องตัวจะมีช่องตัวอยู่ระหว่างชั้นมีโซเดิร์ม แต่พวกที่มีช่องตัวเทียม ช่องตัวไม่ได้อยู่ระหว่างชั้นมีโซเดิร์ม
           กิจกรรมเสนอแนะ
           จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถ
           1. สืบค้นข้อมูลเพื่อศึกษาวัฏจักรชีวิตของพยาธิชนิดต่าง ๆ ในกลุ่มของหนอนตัวแบนหรือหนอนตัวกลม
           2. ระบสาเหตุของโรคพยาธิ ความรุนแรงของโรคและวิธีการป้องกัน
           3. ตระหนักถึงความสำคัญของพยาธิที่มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์

           แนวการจัดกิจกรรม
           ให้นักเรียนเลือกศึกษาวัฏจักรชีวิตของพยาธิชนิดต่าง ๆ ในกลุ่มของหนอนตัวแบนหรือหนอนตัวกลมที่เป็นสาเหตุของโรคพยาธิในท้องถิ่น ความรุนแรงของโรค วิธีป้องกันแล้วนำมาเสนอและปผระชาสัมพันธ์ต่อโดยการจัดป้ายนิเทศหรือนำเสนอหน้าชั้นเรียน

           ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda)
           สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาเป็นสัตว์ที่พบจำนวนมาก และที่สามารถจำแนกสปีชีส์ได้มีประมาณเกือบ 1 ล้านสปีชีส์ ส่วนใหญ่เป็นแมลง พบได้ทุกหนทุกแห่งบนโลก เป็นสัตว์ที่สามารถดำรงชีวิตอยู้บนบกได้อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าบางกลุ่มยังคงอาศัยอยู่ในน้ำก็ตาม
           นักเรียนคิดว่าลักษณะใดที่ทำให้สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาประสบความสำเร็จในการอาศัยอยู่บนบก ?
           คำตอบ ลักษณะที่ทำให้สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดาประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตบนบกคือลักษณะลำตัวมีเปลือกแข็งหุ้มภ-ายนอกและเปลือกแข็งประกอบด้วยสารไคทันทำให้สามารถป้องกันการสูญเสียน้ำได้ดี

           สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา มีลำตัวเป็นปล้อง มีรยางค์เป็นข้อ ๆ ต่อกัน รยางค์เป็นลักษณะพิเศษที่ปรับเปลี่ยนให้ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เดิน จับอาหาร รับความรู้สึก ผสมพันธุ์และป้องกันอันตราย สัตว์ในไฟลัมนี้มีโครงร่างกายนอกเป็นเปลือกแข็งที่ประกอบด้วยไคทิน ในการเจริญเติบโตจะมีการลอกคราบจากระยะตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัย ในระยะตัวอ่อนจึงถูกล่าได้ง่ายและเมื่อเจริญเป็นตัวเต็มวัยจะดำรงชีวิตเป็นผู้ล่า
                ภาพโครงสร้างของสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา
           สัตว์ในไฟลัมนี้มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยมีระบบประสาทและอวัยวะรับสัมผัสที่เจริญ  มีศูนย์ควบคุมของระบบประสาทอยู่ที่ส่วนหัว มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบเปิดและสืบพันธุ์แบบอาสัยเพศ
           สัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา ที่พบในปัจจุบันมีดังนี้
           1. คลาสเมอโรสโตมาตา (Class Merostomata)
ได้แก่แมงดาทะเล นับว่าเป็นสัตว์โบราณมากกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่าบรรพบุรุษของแมลดาทะเล เริ่มมีในโลกตั้งแต่ยุคออร์โดวิเชียน และสูญพันธุ์ไป ปัจจุบันเหลือเพียง 3 สกุล 4 สปีชีส์เท่านั้น แมงดาทะเลพบอยู่ตามบริเวณน้ำตื้นในป่าชายเลน มีลำตัวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัวและส่วนอกรวมกัน และส่วนท้องมีรยางค์คู้แรกทำหน้าที่ในการกินอาหาร มีขาเดิน 5 คู่ ปลายขาคู้สุดท้ายมีลักษณะเป็นแผ่นซ้อนกันใช้ขุดทรายเวลาฝังตัว ในประเทศไทยมีแมงดาทะเล 2 สปีชีส์ คือ แมงดาทะเลหางเหลี่ยม หรือแมงดาจานและแมงดาทะเลหาวกลมหรือแมงดาถ้วย หรือแมงดาไฟ ปัจจุบันมีการนำไข่ของแมงดาทะเลมาบริโภค ทำให้จำนวนแมงดาทะเลในระบบนิเวศลดลงเป็นจำนวนมาก บางครั้งการไข่แมงดาทะเลมาเป็นอาหารอาจทำให้เกิดท้องร่วงหรือมีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้ตายได้ ซึ่งปกติแล้วไข่แมงดาทะเลไม่มีพิษ นอกจากแมงดาทะเลไปกินอาหารที่มีพิษ พิษจะตกค้างอยู่ในกระเพาะ เมื่อนำไข่มารับประทานทำให้ได้รับสารพิษเข้าไป
                ภาพโครงสร้างของแมงดาทะเล ก. ด้านท้อง ข. ด้านหลัง (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 216)
           เพราะเหตุใดจึงจัดแมงดาทะเลเป็นสัตว์โบราณ ?
           คำตอบ  เพราะแมงดาทะเลเริ่มปรากฎในบุคออร์โดวิเชียนจนถึงปัจจุบันและมีรูปร่างปรับเปลี่ยนจากเดิมไม่มาก

           นักเรียนคิดว่าควรมีวิธีการอนุรักษ์แมงดาทะเลได้อย่างไร ?
           แนวตอบ การอนุรักษ์แมงดาทะเล อาจทำได้โดย
           1. การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวไทยรู้จักแมงดาทะเล ซึ่งพบในประเทศไทบเพียง 2 ชนิด จากจำนวน 4 ชนิดในโลก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของแมงดาทะเลที่มีผลต่อระบบนิเวศ
           2. รณรงค์การอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดาทะเล
           3. รณรงค์ให้เลิกบริโภคไช่ของแมงดาทะเลและเพาะพันธุ์แมงดาทะเลเพื่อขยายพันธุ์

           2. คลาสอะแรคนิดา (Class Arachnida)
ได้แก่ แมงป่อง แมงมุม เห็บ ไร เป็นสัตว์ที่มีส่วนหัวและส่วนอกรวมกัน มีรยางค์ 6 คู่ โดยรยางค์คู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 ใช้จับอาหารและรับความรู้สึกและมีขาเดินอีก 4 คู่ ในบริเวณปล้องส่วนท้ายของแมงมุมจะมีอวัยวะชักใย ขณะที่ในแมงป่อง จะปรับเปลี่ยนไปสำหรับใช้ล่าเหยื่อและป้องกันตัว
                ภาพ ก. แมงมุม ข. แมงป่อง ค. เห็บ (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 216)
           แมงมุมเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวห้ำ ช่วยกำจัดแมลงหลายชนิดที่เป็นศรัตรูพืช เห็ย ไร เป็นปรสิตของสัตว์หลายชนิด บางชนิดทำลายผลผลิตทางการเกษตร อาหารของแมงป่องส่วนใหญ่เป็นแมงมุมและแมลงชนิดต่าง ๆ แมงป่องบางชนิดมีพิษร้ายแรงมาก
           แมงมุม แมงป่องมีบทบาทอย่างไรในระบบนิเวศ ?
           คำตอบ มีบทบาทเป็นผู้ล่าที่สำคัญในระบบนิเวศ แมงมุมบางชนิดเป็นตัวห้ำ ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช

           3. คลาสไดโพลโพดา (Class Diplopoda)
ได้แก่ กิ้งกือ ลำตัวมีรยางค์ปล้องละ 2 คู่ บริเวณหัวมีหนวด 1 คู่ อาศัยอยู่ตามพื้นดิน ใต้กองใบไม้กินซากใบไม้และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในดินเป็นอาหาร มูลของสัตว์พวกนี้จะเป็นสารอินทรีย์ในดิน เชื่อว่าน่าจะเป็นสัตว์พวกแรกที่เริ่มมีวิวัฒนาการดำรงชีวิตบนพื้นดิน
           4. คลาสซิโลโพดา (Class Chilopoda)
ได้แก่ ตะขาบ ตะเข็บ ตะขาบฝอย ลำตัวแบนมีรยางค์ปล้องละ 1 คู่ บริเวณหัวมีหนวด 1 คู่ ปล้องแรกของลำตัวมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ แนบกับส่วนหัว จะปล่อยพิษทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตจึงจับกินได้ง่ายหรือใช้ป้องกันตัว
                   ภาพ ก. กิ้งกือ ข. ตะขาบ (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 217)
           ตะขาบและกิ้งกือมีบทบาทต่อการหมุนเวียนสารในระบบนิเวศอย่างไร ?
           คำตอบ ช่วยกินซากพืช ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในดินและยังเป็นอาหารของสัตว์อื่น

           5. คลาสอินเซ็คตา (Class Insecta)
ได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ เป็นสัตว์ที่มีจำนวน สปีชีส์มากที่สุด อาศัยทั้งอยู่บนบก ในน้ำจืดหรือบินอยู่ในอากาศ จากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์เริ่มพบแมลงในบุคดีโวเนียนและมีการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุคคาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน โดยแมลงที่พบในยุคนั้นจะมีลักษณะปากที่เหมาะสมในการพืชเมล็ดเปลือย จึงเป็นหลักฐานที่สนับสนุนการเกิดวิวัฒนาการของแมลงก่อนที่พืชดอกจะมีการแพร่กระจายพันธุ์
           แมลงมีละตัวแบ่งออกเป็นเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอกและส่วนท้อง มีหนวด 1 คู่ มีขา 3 คู่ อยู่บริเวณส่วนอกบางชนิดอาจมีปีก 1-2 คู่

                   ภาพโครงสร้างของแมลง (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 217)
                   ภาพแมลง ก. ผึ้ง ข. ด้วงงวง ค. ผีเสื้อ ง. แมลงปอ จ. ด้วง ฉ. แตน (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 218)
           ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ดังนั้นการทำเกษตรกรรมในประเทศไทยจึงมีปัญหาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช โดยทั่วไปเกษตรนิยมใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้แมลงมีการปรับตัวดื้อสารฆ่าแมลงและทำให้เกิดปัญหาการตกค้างของสารเคมีในดินและในน้ำ รวมทั้งแมลงที่มีประโยชน์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถูกทำลายไปด้วย ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัยวิธีการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยการควบคุมแบบชีววิธี เช่น การใช้ตัวห้ำและตัวเบียน โดยการใช้แตนเบียนไข่ในการกำจัดแมลงด้วยกัน
           กิจกรรมเสริม
           ให้นักเรียนร่วมกันสืบค้นข้อมูล เพื่อค้นหาคำตอบจากคำถามต่อไปนี้
           1. แมลงมีการแพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในยุดใดและมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นอย่างไร ?
           คำตอบ แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในยุคคาร์บอนิเฟอรัสและยุคเพอร์เมียน โดยมีลักษณะปากที่เหมาะสมต่อการกินพืชเมล็ดเปลือยซึ่งเป้นพืชกลุ่มเด่นในยุคนั้น
           2. นักเรียนคิดว่าการเพิ่มจำนวนของแมลงน่าจะมีผลต่อวิวัฒนาการของพืชหรือไม่อย่างไร
           คำตอบ น่าจะมีผลต่อวิวัฒนาการของพืชดอกเพราะแมลงช่วยในการถ่ายละอองเรณู
           3. นักเรียนคิดว่าแมลงมีประโยชน์และโทษอะไรบ้าง จงอธิบาย ?
           คำตอบ แมลงมีประโยชน์หลายด้าน เช่น
           1. ช่วยผสมเกสรของพืชดอก
           2. เป็นสิ่งประดับสวนงาม
           3. แมลงหลายชนิดใช้เป็นอาหาร
           โทษของแมลง เช่น
               1. เป็นศัตรูทำลายผลผลิตทางการเกษตร
               2. เป็นพาหะนำโรคหลายชนิดรวมทั้งเป็นปรสิตในคนและศัตรูสัตว์อื่น
           4. การกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยการควบคุมแบบชีววิธีมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างไร ?
           คำตอบ การควบคุมโดบชีววิธีผลดีต่อระบบนิเวศ คือ ไม่ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล และไม่เกิดมลภาวะในระบบนิเวศ
           5. จงยกตัวอย่างการควบคุมแมลงศัตรูพืชและสัตว์ด้วยการควบคุมโดยชีววิธี ?
           คำตอบ การกำจัดลูกน้ำด้วยปลาหางนกยูง การกำจัดมวนลำไยด้วยแตนเบียน
           6. คลาสครัสตาเชีย (Class Crustacea)
ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู ส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในทะเลหรือแหล่งน้ำจืดสัตว์กลุ่มนี้มีรยางค์จำนวนมากทำหน้าที่พิเศษหลายอย่าง เช่น ใช้เดิน ว่ายน้ำ หรือเปลี่ยนแปลงเป็นหนวดและส่วนประกอบของปาก เป็นสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดากลุ่มเดียวที่มีหนวด 2 คู่ มีขาเดินและมีรยางค์ที่ส่วนท้องสำหรับว่ายน้ำหรือปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่เฉพาะ เช่น แลกเปลี่ยนแก๊ส เป็นที่เกาะของไข่ เป็นต้น
           สัตว์ในกลุ่มนี้เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นิยมนำมาใช้รับประทานเป็นอาหาร ดังนั้นเกษตรกรนิยมเพาะเลี้ยงทดแทนตามธรรมชาติ เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม การเพาะเลี้ยงปู เพื่อเป็นสินค้าส่งออกในรูปแช่เย็น หรือแช่แข็ง ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ                     
                   ภาพสิ่งมีชีวิตในคลาสครัสตาเชีย ก. กุ้ง ข. กั้ง ค. ปูฟองน้ำ  (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 219)
           กลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโพรโมสโทเมีย และกลุ่มดิวเทอโรสโทเมีย
           2. กลุ่มดิวเทอโรสโทเมีย
           ไฟลัมเอคไคโนเดอมาตา (Phylum Echinodermata)
           สัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมเอคไคโนเดอมาตาพบดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทั้งหมด เป็นสัตว์ที่มี 5 แฉกและมีผิวหนังบาง ๆ หุ้มโครงร่างแข็งภายใน ที่ประกอบด้วยแผ่นแคลเซียมคาร์บอเนตผิวลำตัวมีหนามยื่นออกมาซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด มีระบบท่อลำเลียงน้ำที่ปรับเปลี่ยนมาจากช่องตัวแยกไปตาแฉกและแตกแขนงออกเป็นทิวบ์ฟีท ซึ่งใช้เป็นโครงสร้างที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ระยะตัวอ่อนมีสมมาตรแบบด้านข้าง ขณะที่ตัวเต็มวัยมีสมมาตรแบบรัศมีที่แตกต่างจากสัตว์ในไฟลัมไนดาเรีย คือ มีจุดแบ่งที่แน่นอนเพราะฉะนั้นจึงจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง ลักษณะสมมาตรแบบรัศมีนี้เป็นผลมาจากการเกิดวิวัฒนาการเพื่อให้มีวิถีชีวิตที่เกาะติดอยู่กับที่นั่นเอง
                ภาพที่ 20-117 โครงสร้างของดาวทะเล (ที่มา : http://www.esu.edu/~milewski/intro_biol_two/lab__13_echinoderm/starfish_diagr_water_vasc.html)
           สิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้ เช่น ปลิงทะเล ดาวทะเล พลับพลึงทะเล ดาวขนนก ดาวมงกุฎหนาม เป็นต้น
                   ภาพที่ 20-118 เอคไคโนเดิร์ม ก. ข. ดาวขนนก ค. ดาวทะเล ง. ดาวแสงพระอาทิตย์ จ. เม่นทะเล ฉ. ปลิงทะเล (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 220)
           ในบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันพบดาวมงกุฎหนามซึ่งมีหอยสังข์แตรเป็นผู้ล่าที่สำคัญ แต่หอยสังข์แตรมีเปลือกที่สวยและราคาแพง จึงถูกมนุษย์จับเพื่อนำเปลือกมาขายมากขึ้น ทำให้หอยสังข์แตรมีปริมาณน้อยลง
           กลุ่มที่มีสมมาตรแบบด้านข้าง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโพรโมสโทเมีย และกลุ่มดิวเทอโรสโทเมีย
           คำถามก่อนเรียน
           ให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลของสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา ว่ามีลักษณะเหมือนกันอย่างไร
           ข้อสรุป
           ลักษณะที่สำคัญของสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา ได้แก่
           1. มีโนโทคอร์ด
           2. มีท่อประสาทกลวงอยู่ที่ด้านหลัง
           3. มีช่องเหงือก
           4. มีหาง

           จากลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่พบในสัตว์ไฟลัมคอร์ดาตาโดยอาจพบในระยะใดระยะหนึ่งของวัฏจักรชีวิตและมักพบในระยะเอ็มบริโอ
           ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum chordate)
           กิจกรรมก่อนเรียน
           ให้นักเรียนได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา เกี่ยวกับลักษณะรูปร่าง มีวิวัฒนาการ โดยให้นักเรียนร่วมกันอภิปราย และตอบคำถามดังนี้
           1. สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาแบ่งออกเป็นกลุ่มได้อย่างไร และมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ?
           คำตอบ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและสัตว์มีกระดูกสันหลัง แตกต่างกันที่โครงร่างแข็งค้ำจุนภายในร่างกาย
           2. สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาที่ไม่มีกระดูกสันหลังได้แก่สัตว์กลุ่มใดบ้าง
           คำตอบ ยูโรคอร์เดต เช่น เพรียงหัวหอม และเซฟาโลคอร์เดต เช่น แอมฟิออกซัส

           3. เพรียงหัวหอมและแอมฟิออกซัสมีลักษณะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
           คำตอบ เพรียงหัวหอมและแอมฟิออกซัสเป็นสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาที่ยังไม่มีโครงสร้างแข็งค้ำจุนภายในร่างกาย โดยเพรียงหัวหอมมีโนโทคอร์ดในระยะตัวอ่อน แต่แอมฟิออกซัสจะมีโนโทคอร์ดตลอดชีวิต

           ลักษณะของสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา มีลักษณะดังนี้
           1. โนโตคอร์ด (notochord) มีลักษณะเป็นแท่งยาวตลอดความยาวของลำตัวมีความยืดหยุ่นตัวดีระหว่างท่อทางเดินอาหารและท่อระบบประสาท เป็นลักษณะที่พบในระยะเอ็มบริโอของสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตาทุกชนิด และในบางชนิดยังคงพบในระยะตัวเต็มวัย เช่น แอมฟิออกซัส (amphioxus) และปลาปากกลม
                   ภาพโนโตคอร์ดของแอมฟิออกวัส  (ที่มา : http://www.earthlife.net/inverts/cephalochordata.html)
                   ภาพปลาปากกลม (ที่มา :
http://www.english-nature.org.uk/lifeinukrivers/species/species_images/lamprey5.jpg  และ http://planet.uwc.ac.za/nisl/Biodiversity/LOE/images/pic122.jpg  
           2. ท่อประสาทกลวงที่ด้านหลัง ซึ่งเจริญมาจากเนื้อเยื่อชั้นเอกโทเดิร์ม พบบริเวณด้านหลังเหนือโนโตคอร์ดในระยะเอ็มบริโอ ซึ่งจะพัฒนาต่อไปเป็นสมองและไขสันหลังในระยะตัวเต็มวัย
           3. มีช่องเหงือกอยู่บริเวณคอหอย โดยอยู่เป็นคู่ ๆ ทำหน้าที่กรองอาหารในน้ำที่ไหลผ่านเข้ามา พบในระยะตัวอ่อนของสัตว์กลุ่มนี้ทุกชนิดและมีการปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น ๆ ในระยะตัวเต็มวัยต่อไป แต่ในบางชนิดจะยังคงมีอยู่ตลอดชีวิต เช่น ฉลาม กระเบน
           4. หาง เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากทวารหนักบริเวณท้ายลำตัวพบในสัตว์ส่วนใหญ่ในไฟลัมนี้

           ความหลากหลายของสัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา
           สัตว์ในไฟลัมคอร์ดาตา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
           1. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
           สัตว์ในกลุ่มนี้ยังไม่มีโครงร่างแข็งค้ำจุนภายในร่างกาย ตัวอย่างเช่น
           1.1 ยูโรคอร์เดต (Urochordate) เป็นสัตว์ที่มีถุงหุ้มตัว ประกอบด้วยสารคล้ายเซลลูโลส ตัวเต็มวัยไม่มีโนโตคอร์ต ไม่มีเส้นประสาทขนาดใหญ่ บริเวณหลังและหางจะหดหายไปในระยะตัวเต็มวัย ตัวอย่างเช่น เพรียงหัวหอม เป็นต้

                ภาพเพรียงหัวหอม ก. ตัวอ่อน ข. ตัวเต็มวัย ค. โครงสร้างตัวเต็มวัย  (ที่มา : สสวท., 2548. หน้า 221)
           1.2 เซฟาโลคอร์เดต (Cephalochordate) เป็นสัตว์ที่ระยะตัวเต็มวัยไม่มีท่อประสาทขนาดใหญ่ที่บริเวณหลัง มีโนโตคอร์ดยาวตลอดลำตัวและมีตลอดชีวิต มีช่องเหงือกที่คอหอยและมีหาง ตัวอย่างของสัตว์กลุ่มนี้ได้แก่ แอมฟิออกซัส ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็กอาศัยอยู่ในบริเวณที่ตื้นชายฝั่งทะเล
                ภาพแอมฟิออกซัส ก. ภาพวาด ข. ภาพถ่าย (ที่มา ; สสวท., 2548. หน้า 221)
.......................................................................................
เอกสารอ้างอิงและแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือครูสาระ
การเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5. องค์การค้าคุรุสภา. กรุงเทพฯ. 2547.

ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการค. หนังสือเรียนสาระ
การเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5. องค์การค้าคุรุสภา. กรุงเทพฯ. 2547.

Bauer, Penelope Hanchey, Magnoli, Micheal A., Alarez, Armand, Chang-Van Horn, Dorothy and
Gomes, Delilah Taylor. Experiences in Biology. Laidlaw Brothers Publishers. Illinois.
1977.


1 ความคิดเห็น:

The Human Respiratory System

This system includes the lungs, pathways connecting them to the outside environment, and structures in the chest involved with moving air in...