วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

5. ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

5. ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
          จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถ
           1. สืบค้นข้อมูล อภิปรายเพื่อศึกษาสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
           2. นำเสนอสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
           3. ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ
           นักวิชาการประมาณการว่ามีสิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีประมาณ 5 ล้านชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ในประเทศไทย ประมาณร้อยละเจ็ด ประเทศไทยมีประชากรเพียงร้อยละหนึ่ง ของประชากรโลก ดังนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากร ประเทศไทยจึงนับว่ามีความร่ำรวยอย่างมากในด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
           สิ่งมีชีวิตในประเทศไทยหลากหลายได้มาก เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและแต่ละแหล่งล้วนมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต นับตั้งแต่ภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบลอนคลื่น และภูเขาที่มีความสูงหลากหลายตั้งแต่เนินเขาจนถึงภูเขาที่สูงชันถึง 2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งของป่าไม้นานาชนิด ได้แก่ ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าสนเขา อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมหาศาล เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ การเพิ่มของประชากรทำให้มีการบุกเบิกป่าเพิ่มขึ้น การให้สัมปทานป่าไม้ที่ขาดการควบคุมอย่างเพียงพอ การตัดถนนเข้าพื้นที่ป่า การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม การแพร่ของเทคโนโลยีที่ใช้ทำลายป่าได้อย่างรวดเร็ว การครอบครองที่ดินเพื่อเก็งกำไร เป็นต้น พื้นที่ป่าไม้ซึ่งเคยมีมากถึงประมาณ 2.7 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 53 ของพื้นที่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 เหลือเพียงประมาณ 1.3 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 26 ในปี พ.ศ. 2536 ข้อมูลนี้จากการศึกษาตามโครงการ VAP61 โดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2539) แสดงว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลงเท่าตัวในช่วงเวลา 32 ปี และส่วนใหญ่ เกิดขึ้นกับป่าบนภูเขาและป่าชายเลน ยังผลให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์ อาทิ เนื้อสมัน แรด กระซู่ กรูปรี และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ควายป่า ละอง ละมั่ง เนื้อทราย กวางผา เลียงผา สมเสร็จ เสือลายเมฆ เสือโคร่ง และช้างป่า รวมทั้งนก สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง และ สัตว์น้ำอีกเป็นจำนวนมาก
ตารางที่ เปรียบเทียบความหลากหลายของสปีชีส์ของพืชมีเนื้อเยื่อลำเลียงและสัตว์มีกระดูกสันหลังที่รู้จักในโลกและในประเทศไทย
ประเภทของสิ่งมีชีวิต
จำนวนสปีชีส์
โลก
ไทย
ร้อยละ
เฟิน
10,000
591
5.9
สน
529
25
4.7
พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
50,000
1,690
3.4
พืชใบเลี้ยงคู่
170,000
7,750
4.6
ปลา
19,056
2,401
12.6
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
4,187
123
2.9
สัตว์เลื้อยคลาน
6,300
318
5.0
นก
9,040
962
10.6
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
4,000
292
7.3

           จากตารางแสดงให้เห็นว่าจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มีการศึกษาในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และข้อมูลควาหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีการศึกษาความหลากหลายมากขึ้นทำให้ข้อมูลความหลากหลายสปีชีส์มากขึ้น
           ปัจจุบันผลจากการทำลายป่าก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ เริ่มลดน้อยลง ผืนป่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถซับน้ำฝนที่ตกหนัก เกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ยังผลให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจ บ้านเรือน และความปลอดภัยของชีวิตคนและสัตว์เป็นอันมาก เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุการณ์พายุเกย์ถล่มจังหวัดชุมพร และเหตุการณ์น้ำท่วมในที่ต่างๆ เป็นต้น
           ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการหยุดยั้งการสูญเสียระบบนิเวศป่าทุกประเภท การอนุรักษ์สิ่งที่เหลืออยู่ และการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่สภาพป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพดังเดิม เพราะความหลากหลายเหล่านั้น เป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
           สังคมไทยมีพื้นฐานมาจาก สังคมเกษตรกรรม และเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก วัฒนธรรมไทยหลายอย่างผูกพันกับการแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณในการเพาะปลูก คนไทยแต่โบราณกาลจึงมีความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและผูกพันกับธรรมชาติอย่างแยกกันไม่ออก นับว่าคนไทยมีพื้นฐานเชิงวัฒนธรรมพร้อมมูลอยู่แล้ว แม้ว่าการศึกษาสมัยใหม่จะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่การใช้เทคโนโลยีและวิชาการอย่างไม่เข้าใจหลักการและความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ย่อมนำสังคมไปสู่หายนะในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นจะดูเหมือนว่ามีความเจริญรุ่งเรืองก็ตาม (ที่มา : http://www.swu.ac.th/royal/book2/index.html)
           อุทยานแห่งชาติกับการอนุรักษ์แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จังหวัดเลย
           ในปัจจุบันโลกมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนประชากรได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก (65 ล้านคน) เป็นผลทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกินขอบเขตและขาดความระมัดระวัง ทำให้เกิดความเสียหายและความเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ การที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจึงจำต้องมีการวางแผนการจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้
           ในส่วนของรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้มีการดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานที่จะดูแลรับผิดชอบและส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งในด้านทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรทางทะเล และได้มีการจัดตั้ง สวนพฤกษศาสตร์ วนอุทยาน และอุทยานแห่งชาติขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2468 ได้มีการจัดตั้งป่าภูกระดึงขึ้นเป็นวนอุทยานแห่งแรกในประเทศไทย
           ปี พ.ศ. 2502 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในสมัยนั้นได้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ป่าและสภาพนิเวศไว้เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้จากธรรมชาติจริง
           อุทยานแห่งชาติ หมายถึง พื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ มีความงดงามทางธรรมชาติ มีขนาดตั้งแต่ 10 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่า เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เหมาะสำหรับการศึกษาค้นคว้าหาความรู้หรือมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม การดูแลอุทยานแห่งชาติเป็นหน้าที่ของหน่วยงานทางราชการซึ่งต้องเข้มงวดกวดขันเพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกได้โดยเด็ดขาด และประการสำคัญก็คือต้องอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจได้ โดยปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่ได้กำหนดไว้
           อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 มีอาณาเขตครอบคลุม 11 อำเภอ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก รวมเนื้อที่ 1,355,468.75 ไร่ เป็นป่าผืนใหญ่ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนหลายลูก เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น แม่น้ำปราจีน แม่น้ำนครนายก แม่น้ำลำตะคอง แม่น้ำลำพระเพลิง มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ป่าเป็นอย่างมาก มีธรรมชาติที่สวยงามประกอบด้วย ป่าไม้หลายชนิด ทุ่งหญ้า มีน้ำตกประมาณ 30 แห่ง เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ที่สุด ประกอบด้วยที่พักแรม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สาธารณูปโภคเพียบพร้อม จนได้รับสมญานามว่าเป็น “อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน” และเป็นที่ยอมรับกัน โดยทั่วไปว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของ
           เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พ.ศ. 2532 เพื่อมิให้มีการนำไม้ออกจากป่า และเร่งรัดการฟื้นฟูสภาพป่า เป็นผลให้ในเวลาต่อมามีการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติที่ได้ประกาศแล้วจำนวน 68 แห่ง (ข้อมูลถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2541) รวมเนื้อที่ 24,280,573.85 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.59 ของพื้นที่ประเทศ มีพื้นที่กำลังดำเนินการอีกมากกว่า 40 แห่ง ทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีอุทยานแห่งชาติในความรับผิดชอบของส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีก 20 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 3,531,659.52 ไร่ แห่งสุดท้ายที่ได้รับการประกาศ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จังหวัดชุมพร ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่เตรียมการประกาศอีก แห่ง
           ระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2533
           เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ปรับปรุงจาก ฉบับที่ พ.ศ. 2514 เพื่อให้ทันสมัยเหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้กำหนดข้อปฏิบัติของประชาชนซึ่งจะเข้าไปใช้สถานที่ต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ ดังนี้
           1. ห้ามมิให้นำยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์มีเสียงดังหรือควันดำผิดปกติวิสัยเข้าไป
           2. การขับขี่ยานพาหนะต้องปฏิบัติตามกฎ หรือเครื่องหมายการจราจรที่พนักงาน เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ การจอดยานพาหนะต้องไม่กีดขวางทางจราจร
           3. การเข้าออกให้กระทำได้เฉพาะตามเส้นทางที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้และเมื่อถึงด่านตรวจจะต้องหยุดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านทำการตรวจก่อน
           4. ห้ามนำสารเคมีที่มีพิษตกค้างตามบัญชีสารเคมีท้ายระเบียบนี้เข้าไปในเขตอุทยาน แห่งชาติ ทั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน
           5. การอาบน้ำหรือลงไปในลำน้ำ ให้กระทำได้เฉพาะบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้
           6. การเล่นกีฬา ให้กระทำได้ในบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้
           7. การพักแรมค้างคืนโดยการจอดยานพาหนะนอน ใช้เต็นท์ กระโจม รถพ่วงหรือโดยวิธีอื่นๆ ให้กระทำได้ในบริเวณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้
           8. การก่อไฟเพื่อการใดๆ ให้กระทำได้เฉพาะในเขตที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ และต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เมื่อเลิกใช้แล้วต้องดับไฟให้เรียบร้อย
           9. การใช้สถานที่เพื่อการใดๆ ต้องมิให้เป็นการเสื่อมเสียศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม และต้องไม่ส่งเสียงอื้อฉาวหรือกระทำการอันเป็นการรบกวนหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่คนหรือสัตว์
           10. การเดินเที่ยวชมธรรมชาตินอกทางถาวร ให้ใช้เส้นทางที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดหรือทำเครื่องหมายไว้
           11. เมื่อเกิดเหตุหรืออันตรายใดๆ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้พบเห็นแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน เพื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะได้ให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
           อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย
           อุทยานแห่งชาติในประเทศไทยแบ่งออกเป็น ส่วนตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 68 แห่ง เนื้อที่ 24,280,573.85 ไร่ คิดเป็นเนื้อที่ 7.59 % ของพื้นที่ประเทศ
           อุทยานแห่งชาติภาคเหนือ ครอบคลุมอาณาบริเวณ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นไปทางภาคเหนือจนถึงจังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ลำธารหลายสาย มีอุทยานแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 27 แห่ง
           อุทยานแห่งชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่ จังหวัดนครราชสีมา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงจังหวัดเลย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีอุทยานแห่งชาติรวม 19 แห่ง แห่งสุดท้ายที่ตั้งขึ้น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ
           อุทยานแห่งชาติภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติที่อยู่บนส่วนพื้นดิน 12 แห่ง มีส่วนที่เป็นป่า ภูเขา และน้ำตกที่สวยงาม และยังมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีก แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด
           อุทยานแห่งชาติภาคใต้ ครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปตลอดแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติส่วนที่อยู่บนแผ่นดิน เป็นป่าเขา คาบสมุทรรวม 10 แห่ง และอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งอยู่บริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะในทะเลอีก 18 แห่ง รวมเป็น 28 แห่ง นอกจากนี้ยังมีอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่กำลังเตรียมการประกาศอีก แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี จังหวัดระนอง อุทยานแห่งชาติน้ำตกธารเสด็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะพยาม จังหวัดระนอง อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช
           วนอุทยาน
           เป็นพื้นที่ป่าขนาดเล็กในระดับท้องถิ่น มีความงดงามตามธรรมชาติ อาจมีลักษณะเด่น เช่น น้ำตก หุบเหว ถ้ำ หน้าผา หาดทราย เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ของประชาชนทั่วไป ทางกรมป่าไม้เห็นสมควรที่จะสงวนพื้นที่ป่าให้เป็นวนอุทยานให้เพิ่มมากขึ้น และมีอยู่ในทุกจังหวัด จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกพื้นที่ที่สมควรจัดเป็นวนอุทยานไว้หลายประการ ดังนี้
           1. เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือกำลังเตรียมการสงวนหรือเป็นเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้ และเป็นที่ดินสาธารณะ
           2. เป็นพื้นที่ที่มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีลักษณะเด่น หายากและแปลก มีความสวยงาม ร่มรื่น เหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและศึกษาธรรมชาติได้
           3. มีขนาดของพื้นที่พอสมควร มีระบบนิเวศที่สมดุลและพัฒนาเต็มที่แล้ว เป็นประโยชน์ได้ในระยะยาว
           4. มีระยะทางไม่ห่างไกลจากชุมชน และสามารถพัฒนาการคมนาคมให้สะดวกได้
           วนอุทยานแห่งแรกในประเทศไทย ได้แก่ป่าภูกระดึง ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2468 ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าภูกระดึงเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ได้เริ่มดำเนินการเพื่อการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จนในที่สุดได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าภูกระดึงในท้องที่ตำบลสีฐาน กิ่งอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 เนื้อที่ประมาณ 217,581 ไร่ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่สองของประเทศ
           ปัจจุบันมีวนอุทยานในประเทศไทย 65 แห่ง รวมเนื้อที่ทั้งหมด 541,525.51 ไร่
           สวนพฤกษศาสตร์
           ความหมายสวนพฤกษศาสตร์ เป็นสถานที่ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมพรรณไม้นานาชนิด โดยมีจุดประสงค์ ให้เป็นสถานที่ให้การศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจควบคู่กันไป การสร้างสวนพฤกษศาสตร์ต้องใช้เวลานาน นับสิบปีขึ้นไปจึงจะมีความสมบูรณ์พอที่จะบริการประชาชนได้ เนื่องจากพันธุ์ไม้ทุกชนิดจะต้องได้รับการตรวจสอบให้ถูกต้อง และจะต้องเพาะเลี้ยงให้แข็งแรงก่อนนำลงปลูก ก่อนปลูกจะต้องเตรียมดินและพื้นที่ให้เหมาะสมกับต้นไม้ด้วย การสะสมพรรณไม้เองก็ต้องใช้เวลามาก บางชนิดจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกับสวนพฤกษศาสตร์ประเทศอื่น
           ประวัติสวนพฤกษศาสตร์
           เริ่มมีการจัดสร้าง ตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชประมาณ 3,500 กว่าปีมาแล้ว สวนพฤกษศาสตร์ในสมัยนั้นมักจะเน้นหนักในการสะสมพรรณไม้ที่มีคุณค่าทางยามาปลูกไว้ ในบริเวณที่ว่างรอบๆ โบสถ์ ดังปรากฏ ณ เมือง Karmak ประเทศอียิปต์ ต่อจากนั้นมาประมาณพันกว่าปี Aristotle (384 - 322 ก่อนคริสตศักราช) นักปราชญ์และนักธรรมชาติวิทยาชาวกรีกได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของโลกที่เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีก มีจุดประสงค์สำหรับใช้ประโยชน์ทางการศึกษา วิจัย และเป็นสถานที่สอนนักศึกษา เมื่อ Aristotle เสียชีวิตลงในปี 323 ก่อนคริสตศักราช Theophrastus (380 - 287 ก่อนคริสตศักราช) รับช่วงเป็นผู้ดูแลต่อไป โดยใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นสถานศึกษาและเป็นห้องปฏิบัติการทางพฤกษศาสตร์ นอกจากสอนพฤกษศาสตร์ภายในสวน Theophrastus ได้ส่งนักศึกษาออกไปสำรวจพรรณไม้นอกสถานที่ที่มีระบบนิเวศต่างๆ กัน เขาสะสมพันธุ์พืชหลากหลาย ชนิดที่ลูกศิษย์ส่งมาให้และได้รับจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้ครองประเทศกรีกในสมัยนั้นด้วย เขาทำการศึกษาทุกๆ ด้านทางพฤกษศาสตร์ตามตัวอย่างพรรณไม้ที่เก็บสะสมไว้ในสวนจะอำนวยให้ ผล จากการศึกษาทำให้เขาเขียนตำราทางพฤกษศาสตร์ไว้ประมาณ 200 กว่าเล่ม ในจำนวนนี้ มีอยู่ เล่ม ที่มีคุณค่าทางพฤกษศาสตร์มากและใช้เป็นพื้นฐานของการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ Historia Plantarum กับ The Causes of Plants ผลงานของ Theophrastus เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง Linnaeus* ให้การยกย่องเขาเป็นบิดาทางพฤกษศาสตร์ (father of botany) เมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 200 ปี
           หลังจากจักรวรรดิโรมันและกรีกล่มสลาย ทวีปยุโรปเข้าสู่ยุคมืด การสร้างสวน พฤกษศาสตร์ขาดตอนไป สวนพฤกษศาสตร์ที่มีอยู่เปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่เก็บสะสมพืชสมุนไพรเสียเป็นส่วนใหญ่ จนผ่านยุคมืดเข้าสู่ยุคทองหรือ Renaissance สวนพฤกษศาสตร์กลับมามีบทบาททางด้านการศึกษาและวิจัยอีกครั้ง เมื่อปี ค.ศ. 1543 Grand Duke de Medici สร้างสวนพฤกษศาสตร์ เปิดสำหรับบริการบุคคลทั่วไปเป็นครั้งแรกที่เมือง Pisa ประเทศอิตาลี การสร้างสวนพฤกษศาสตร์ได้แพร่หลายไปทั่วทวีป ยุโรปในเวลาต่อมา ทำให้วิชาพฤกษศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปอย่างมากมาย
           ความสำคัญของสวนพฤกษศาสตร์
           การจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ในยุคแรก มุ่งเน้นการรวบรวมพรรณไม้ที่มีคุณค่าทางสมุนไพรมาปลูก มีการจัดหมวดหมู่ให้ถูกต้อง ที่นำเอาพืชในวงค์ปรงมาไว้ในสถานที่เดียวกัน บางชนิดที่ไม่สามารถนำมาจัดปลูกได้ก็จะจัดเก็บไว้ในรูปพรรณไม้แห้ง โดยจะเก็บตัวอย่างแห้งที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ ของพรรณพืช นำมาติดกับกระดาษแข็งใส่ตู้เก็บอย่างเป็นระเบียบจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ การเก็บตัวอย่างพืชอัดแห้งอย่างเป็นระบบนี้เรียกว่าหอพรรณไม้ herbarium ซึ่งการจัดตั้งหอพรรณไม้เพื่อให้ผู้ที่จะทำการศึกษาสามารถศึกษารายละเอียดต่างๆ ได้ตลอดปี ดังนั้นหอพรรณไม้จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์ การศึกษาเปรียบเทียบรูปพรรณสัณฐานของพันธุ์พืช เป็นการศึกษาที่จัดให้มีขึ้นในสวนพฤกษศาสตร์ เพราะจะช่วยในการจัดพันธุ์พืชให้ถูกต้องตามหลักอนุกรมวิธาน และผลจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปพรรณสัณฐานของพืชนี้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสนับสนุนการศึกษาเรื่องไซโตโลจี กายวิภาคศาสตร์ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชีวเคมีและชีวโมเลกุลของพืช
           ในสมัยล่าอาณานิคม ประเทศมหาอำนาจในยุโรปเข้ามายึดครองประเทศในทวีปแอฟริกา ทวีฟอเมริกาใต้ และทวีปเอเซีย ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ      และมีวัฒนธรรมอันยาวนาน ประเทศมหาอำนาจจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในประเทศอาณานิคมของตน เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการศึกษาพันธุ์พืชโดยเฉพาะพันธุ์พืชทางเศรษฐกิจและใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งขยายพันธุ์ก่อนที่จะนำไปปลูกสวนพฤกษศาสตร์ประเทศอื่น ที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรอีกด้านหนึ่งของโลก เพื่อขยายแหล่งที่ปลูกให้มากขึ้น ให้ได้ผลผลิตมากพอกับความต้องการของตลาด
           หน้าที่ของสวนพฤกษศาสตร์
           สวนพฤกษศาสตร์ในอดีตมีขนาดเล็กมักจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทางด้านพืช มาในปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์รวบรวมพันธุ์ไม้จากต่างถิ่นมาปลูกเพิ่มขึ้นทำให้สวนพฤกษศาสตร์มีขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาธรรมชาติด้านพฤกษศาสตร์ บทบาทและหน้าที่ของสวนพฤกษศาสตร์ จึงเพิ่มมากขึ้นได้แก่
           1. ให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป สวนพฤกษศาสตร์สามารถให้บริการแก่ประชาชน ทั้งทางด้านพักผ่อนหย่อนใจ และให้บริการทางด้านการศึกษาควบคู่กันไป จึงมีการจัดภูมิทัศน์ด้วยพรรณไม้ หลากสี แสดงพันธุ์พืชต่างๆ ให้ประชาชนเข้าเดินชม จัดการแสดงถาวรของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับพืชในตัวอาคารด้วย (botanical museums) เพื่อให้ประชาชนได้เห็นถึงความสวยงามต่างๆ ของพืชและธรรมชาติในทุกฤดูกาลตลอดปี และทำให้เกิดความประทับใจที่ได้มาเยือน โดยมีการสอดแทรกความรู้ให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม เช่น จัดนิทรรศการในรูปแบบต่างๆ ที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากพืช ซากพืชโบราณ (fossils) แผนภูมิที่แสดงถึงความสำคัญของต้นไม้ที่มีต่อระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ของพรรณพืชกับคน เพื่อให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรด้านพืช เป็นต้น
           2. เป็นที่เก็บรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ภายในประเทศ และพรรณไม้ต่างประเทศ เก็บสะสมทั้งพรรณพืชอัดแห้งและที่มีชีวิต นำพืชเหล่านั้นมาตรวจสอบชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้ถูกต้อง ถ้าเป็นพืชอัดแห้งนำมาทำหอพรรณไม้ เก็บรักษาในตู้ป้องกันแมลงและความชื้น จัดให้เป็นหมวดหมู่ ตามวงศ์ สกุล และชนิดพันธุ์ สำหรับการเก็บสะสมพืชที่ยังมีชีวิต นำมาปลูกให้ถูกต้องตามระบบนิเวศ และภูมิศาสตร์ของพรรณพืช จัดระเบียบการปลูกให้เป็นวงศ์และจัดปลูกให้สวยงาม ติดชื่อทางวิทยาศาสตร์ กำกับพืชแต่ละต้นให้ชัดเจน สำหรับสวนพฤกษศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเขตอบอุ่นของโลกที่มีอากาศหนาวจัดในช่วงฤดูหนาวนั้นพรรณพืชจากเขตศูนย์สูตรจะนำมาเก็บไว้ในเรือนกระจกที่มีการปรับอุณหภูมิความชื้นแสง ให้ใกล้เคียงกับสภาวะแวดล้อมในเขตศูนย์สูตรมากที่สุด และในทางกลับกันสวนพฤกษศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรก็จะสร้างเรือนกระจกสำหรับเก็บสะสมพันธุ์พืชของเขตอบอุ่น พืชที่เก็บรวบรวม สะสมไว้นี้นอกจากเก็บไว้เป็นข้อมูลของประเทศแล้ว ยังเก็บไว้สำหรับการศึกษาวิจัย และใช้แลกเปลี่ยนตัวอย่างกับสถาบันทางการศึกษาอื่น ๆ ด้วย
           3. เป็นสถาบันทางการศึกษาและวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ ดำเนินการผลิตบัณฑิตและนักพฤกษศาสตร์ระดับสูงร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ และใช้เป็นสถานที่ดำเนินการโครงการวิทยานิพนธ์ชั้นสูงทางพฤกษศาสตร์และพันธุกรรมพืช ในส่วนของสวนพฤกษศาสตร์เองก็ดำเนินงานวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ทางพฤกษศาสตร์ให้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้น โดยทำการศึกษา วิจัย ตั้งแต่ระดับสิ่งมีชีวิตจนถึงระดับชีวโมเลกุล งานวิจัยทาง ด้านสรีรวิทยา นิเวศวิทยา การสำรวจพรรณไม้ นอกจากนั้นสวนพฤกษศาสตร์ยังมีส่วนร่วมในการจัดการประชุมวิชาการทางพฤกษศาสตร์และจัดอบรม
           4. จัดบริการอบรมโปรแกรมพิเศษ ให้แก่บุคคลในระดับต่างๆ เช่น เด็กก่อนวัยเรียน นักเรียน ครู เป็นต้น ทำการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืช โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก หรือไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์ พืชสมุนไพรและไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ดำเนินการขยายพันธุ์มากขึ้น จัดทำคลังเมล็ดพันธุ์ สำหรับแจกจ่าย จัดทำธนาคารเชื้อพันธุ์ ปกป้องอนุรักษ์บริเวณที่มีความละเอียดเปราะบางทางนิเวศวิทยา
           5. มีบทบาทในการกระตุ้นเตือนรัฐบาลและประชาชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
           6. เป็นศูนย์ข้อมูลด้านพืช จัดทำฐานข้อมูลพรรณพืช จัดทำเอกสารสิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ ผลงานวิจัยทางพฤกษศาสตร์ หรือการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ
           7. ทำการประสานงานกับสถาบันภายนอก ได้แก่ ความร่วมมือระหว่าง สวน พฤกษศาสตร์กับภาครัฐบาลและเอกชน และระหว่างสวนพฤกษศาสตร์ในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนพรรณไม้ เอกสาร ข่าวสาร และนักวิชาการ ความรู้ด้านวิชาการ การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาก้าวทันโลก
           สวนพฤกษศาสตร์ในทวีปเอเชีย
           การสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในทวีปเอเชียเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการล่าอาณานิคมและการติดต่อค้าขายกับประเทศทางเขตศูนย์สูตรของประเทศมหาอำนาจยุโรป สวน พฤกษศาสตร์ในสมัยนั้นจึงมีบทบาทในการเก็บสะสมพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นหลัก เพื่อนำมาศึกษาวิจัย หาคุณค่าทางเศรษฐกิจสำหรับประโยชน์ทางการค้า ในการเก็บรักษาพรรณไม้ใน สวนพฤกษศาสตร์ ใช้วิธีแบ่งหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธานของ Linnaeus ซึ่งจะเกิดความสะดวกและเป็นประโยชน์มาก เมื่อมีจำนวนพืชสะสมมากขึ้น ในที่นี้จะนำเสนอสวนพฤกษศาสตร์ในทวีปเอเชียเพียง แห่ง เป็นสวนพฤกษศาสตร์ของไทย แห่ง ซึ่งจะอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย อีก แห่งที่เหลือมีความสำคัญในด้านความเก่าแก่ และมีจำนวนพรรณไม้เก็บสะสมไว้มาก และจะกล่าวเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเฉพาะสวนพฤกษศาสตร์อินเดีย โบกอร์ สิงหล และสิงคโปร์ ประเทศที่ตั้งของสวนพฤกษศาสตร์เหล่านี้เคยเป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรป
           สวนพฤกษศาสตร์อินเดีย ในกัลกัตตา ประเทศอินเดีย จัดสร้างขึ้นภายใต้การดูแลของนักพฤกษศาสตร์จากประเทศอังกฤษ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปเอเชีย จัดสร้างขึ้นมาเพื่อ ศึกษาถึงความมั่งคั่งของทรัพยาการพืชในประเทศอินเดีย เป็นที่พักฟื้นพืชต่างถิ่นและนำพืชเศรษฐกิจเข้ามาปลูก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารของประชากรที่ยากจนในท้องถิ่น เนื่องจากชาวอินเดียรู้จักปลูก เครื่องเทศและนำเครื่องเทศต่างๆ มาประกอบอาหารเป็นเวลายาวนานก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องเทศเหล่านี้เป็นของใหม่ของชาวตะวันตก จึงมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก บริษัทเอกชน British East India Company สนับสนุนให้ปลูกเครื่องเทศต่างๆ ภายในสวนให้เพียงพอกับที่ตลาดต้องการเพื่อส่งออกขายไปยังทวีปยุโรป นอกจากนั้นแล้วยังสนับสนุนให้ปลูกไม้สักเพิ่มเติมสำหรับนำไม้มาใช้ซ่อมเรือของบริษัท ดังนั้นการศึกษาวิจัยทางพฤกษศาสตร์ภายในสวน เริ่มมาจากการใช้พืชเศรษฐกิจเป็นตัวอย่างศึกษา ปัจจุบันบริเวณที่ขึ้นชื่อภายในสวน ได้แก่ การจัดภูมิทัศน์แบบอังกฤษ สวนเฟื่องฟ้าที่มีดอกสีฉูดฉาดสดใสจนขึ้นชื่อว่าไม่มีดอก เฟื่องฟ้าในสวนพฤกษศาสตร์แห่งใดเสมอเหมือน มีต้นนิโคธร (Ficus bengalensis) ที่ใหญ่มากมีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี กิ่งก้านมี รัศมีถึง 1/4 ไมล์ มีเรือนเพาะชำพืชที่ดีที่สุดในเอเชีย ใช้อนุบาลพืชดั้งเดิมสำหรับนำมาปลูกภายในสวนและจัดจำหน่ายด้วย
           สวนพฤกษศาสตร์โบกอร์ จัดสร้างขึ้นที่โบกอร์ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดยชาวดัชท์ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่และสวยงามมาก มีหน้าที่เช่นเดียวกับสวนพฤกษศาสตร์อื่นๆ ที่อยู่ใต้การปกครองของผู้ล่าอาณานิคม คือศึกษาวิจัยหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพืชท้องถิ่นนั้นๆ และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของพรรณไม้ ต้นปาล์มน้ำมันต้นแรกของทวีปเอเชียได้มีการทดลองปลูกที่นี่เป็นแห่งแรกในปีคริสตศักราช 1848 นอกจากนั้นยังมีไม้ต่างถิ่น ได้แก่ ต้นสาคู ชิด สละ ต้นสาละลังกา โกโก้ และบัววิคตอเรีย พืชเหล่านี้เมื่อขยายพันธุ์ได้ผลก็ได้มีการกระจายแพร่หลายไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันสวนแห่งนี้เก็บสะสมพรรณไม้ไว้จำนวนมาก มีไม้ใหญ่และไม้พุ่มประมาณ 6,000 ชนิด และพืชดอกอื่นๆ อีกประมาณ 5,000 ชนิด ไม้ใหญ่ประกอบด้วยพรรณไม้ดั้งเดิมในเขตศูนย์สูตรและที่นำมาจากตอนเหนือเขตศูนย์สูตร อเมริกากลางและเมดิเตอเรเนียนตะวันออก สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในอันดับ ของสวนพฤกษศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลก
           สวนพฤกษศาสตร์สิงหล (Peradeniya) จัดสร้างขึ้นในประเทศศรีลังกาโดยรัฐบาลอังกฤษ เพื่อทดลองปลูกพืชทดแทนจากการเสียหายในการปลูกกาแฟ ปรากฏว่าซินโคน่าและชาสามารถขึ้นได้ดี จึงมีการขยายพันธุ์อย่างรีบด่วนภายใน ปี (1873 - 1876) ได้ต้นกล้าถึง 3,500,000 ต้น สามารถใช้ปลูกทดแทนต้นกาแฟที่ตายทั่วประเทศ ต้นยางพาราที่อังกฤษนำมาจากอเมริกาใต้ก็ถูกส่งมาทดลองปลูกและขยายพันธุ์ที่นี่ สวน พฤกษศาสตร์แห่งนี้ จึงเป็นศูนย์ขยายพันธุ์ยางพาราสำหรับปลูกในท้องที่ทั่วประเทศและประเทศใกล้เคียง ต้นยางพาราต้นแรก ที่ได้ทดลองปลูกและกรีดได้ผล ยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบันนี้ สิ่งมหัศจรรย์ของสวนพฤกษศาสตร์นี้ ได้แก่ ต้นยางอินเดีย (Ficus elastica) ที่มีพูพอนใหญ่มาก ต้นโสกระย้า (Amherstia nobilis) ที่ใหญ่และสีสดใส และต้นลาน (Corypha) ที่จะออกดอก 30 - 40 ปีต่อครั้ง ทะเลสาปในสวนพฤกษศาสตร์ปกคลุมด้วยบัวพันธุ์ต่างๆ สวยงามมาก
           สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ เริ่มจัดตั้งในปี ค.ศ. 1822 แต่ยังไม่ได้จัดเป็นสวนพฤกษศาสตร์จริงๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1859 สมาคมเกษตรพืชสวนได้รับเงินอุดหนุนให้จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในเนื้อที่ 60 เอเคอร์ก่อน โดยใช้แรงงานจากนักโทษ บางส่วนของพื้นที่ที่จะปรับปรุงให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ ยังเป็นป่าที่สมบูรณ์เต็มไปด้วยงูเห่า งูหลาม งูเหลือม และลิง จึงกันไว้ 11 เอเคอร์ให้คงธรรมชาติไว้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ มีการสะสมพรรณพืชมากขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1866 สวนพฤษศาสตร์ขยายขึ้นมาอีก 25 เอเคอร์ ทำให้เงินอุดหนุนที่ได้รับสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ สมาคม ฯ ได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลและบริษัท British East India จะให้เงินอุดหนุนมากขึ้นหากสนับสนุนให้สวนพฤกษศาสตร์เก็บสะสมและปลูกพืชเศรษฐกิจ พื้นที่ของสวนจึงขยายเพิ่มขึ้นอีก 102 เอเคอร์ สำหรับจัดเป็นแปลงทดลอง และแปลงปลูกพรรณไม้เศรษฐกิจที่นำเข้ามาจากอเมริกาใต้ เช่น ควินิน กาแฟ ชา ข้าวโพด อ้อย และยางพารา สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ทำการศึกษา ยางพาราอย่างจริงจังและพบว่า Hevea brasiliensis เป็นต้นยางพาราที่ให้น้ำยางที่มีคุณภาพดีที่สุด ปัจจุบันความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับยางพารา โดยเฉพาะเทคนิคการปลูกที่ทำให้ได้ยางดียังคงเก็บสะสมอยู่ที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์มากที่สุด
           ปัจจุบันมีสวนพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาและเป็นสมาชิกของสถาบันสวนพฤกษศาสตร์ และรุกขชาติของโลกไม่น้อยกว่า 600 แห่ง และกำลังมีสวนพฤกษศาสตร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก สวนพฤกษศาสตร์ที่รู้จักกันแพร่หลายของโลก ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์หลวงคิว (Royal Botanic Garden Kew) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1759 นับว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีหอพรรณไม้ที่ใหญ่มากมีตัวอย่างพืชเกือบ ล้านตัวอย่าง จัดเป็นแม่บทของสวนพฤกษศาสตร์ ทั่วโลก สวนพฤกษศาสตร์ที่มีขนาดเล็กลงมาและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ สวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ค (New York Botanical Garden) และสวนพฤกษศาสตร์มิสซูรี (Missouri Botanical Garden) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
           สวนพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย
           การจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย ได้เคยพยายามทำมาแล้วในอดีต แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดสร้างสวนในลักษณะของสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในสวนลุมพินี พร้อมๆ กับการจัดสร้างสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการจัดตั้งสมาคมพืชกรรมแห่งประเทศสยามขึ้น และได้พยายามจัดทำสวนลุมพินี ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์อีกครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่สำเร็จอีก
           ประเทศไทยไม่เคยมีหลักฐานการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์มาก่อน แต่ก็มีความสนใจในการนำพันธุ์พืชใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ ซึ่งมีมาตลอดเวลาควบคู่กับการค้าขายหรือติดต่อราชการกับต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช แต่จะนำมาจัดสวนในลักษณะอุทยานดังปรากฏในประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระทัยเก็บสะสมพันธุ์พืช เมื่อเสด็จประพาสต่างประเทศแต่ละครั้งพระองค์จะทรงนำพันธุ์พืชใหม่ๆ เข้ามา พระองค์มีพระราชดำริให้จัดสร้าง เรือนเพาะชำในพระราชวังสวนดุสิต สำหรับเก็บสะสมพันธุ์พืชต่างๆ ไว้ เมื่อเวลาเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรในหัวเมืองก็จะพระราชทานพันธุ์ให้ไปปลูก และทุกครั้งที่มีการตัดถนนสายใหม่ พระองค์จะทรงให้ปลูกต้นไม้ก่อน โดยนำมาจากเรือนเพาะชำภายในพระราชวังสวนดุสิต ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และทรงประณีต ในการเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะกับสภาพถนนแต่ละทำเลไป ถนนอะไรควรปลูกพันธุ์พืชชนิดใด เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม เกิดความร่มรื่นเป็นระเบียบและสวยงาม และมีพระราชดำริให้ปลูกบัวสายหลากสี ในคูน้ำสำหรับเป็นที่พักผ่อนของประชาราษฎร ดังนั้นถึงแม้ประเทศไทยจะไม่เคยมีการสร้างสวนพฤกษศาสตร์มาก่อน แต่ก็มีการสะสมพันธุ์พืช ขยายพันธุ์พืชและนำมาปลูกไว้ตามถนนต่างๆ
           กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำริจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บริเวณพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2484 แต่พื้นที่ไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากขาดแหล่งน้ำและดินไม่ดี กรมป่าไม้จึงเลือกใหม่ที่ ป่าพุแค ชายดงพญาเย็น มีเนื้อที่ประมาณ 3,750 ไร่ การพัฒนาสวนพุแคดำเนินไปช้ามาก เพราะรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญและได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ
           สวนพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยในปัจจุบันจำแนกตามหน่วยงานที่สังกัดออกเป็น 3 ประเภท คือ
           1. สวนพฤกษศาสตร์สังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สวนที่สังกัดกรมป่าไม้มี ลักษณะ ได้แก่
           1.1 สวนพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ มีบทบาทในการรวบรวมพันธุ์พืชทุกชนิดตามหลักอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา เช่นเดียวกับสวนพฤกษศาสตร์ทั่วไป ใช้สำหรับศึกษาทางพฤกษศาสตร์โดยเฉพาะ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย ในสวนพฤกษศาสตร์จะปลูกพันธุ์พืชทั้งไม้พื้นเมืองและต่างประเทศ โดยแยกเป็นหมวดหมู่ เป็นวงศ์ และสกุล ตามลำดับความสำคัญของชนิดไม้นั้นๆ นอกจากนั้นยังทำการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ของไทย สวนพฤกษศาสตร์ที่สังกัดกรมป่าไม้นี้จัดสร้างไว้ทุกภาคของประเทศไทย ขนาดของพื้นที่ประมาณ 800 - 2500 ไร่ ปัจจุบันมีอยู่ แห่ง และอีก แห่ง เป็นสวนพฤกษศาสตร์รวบรวมพืชจากวรรณคดีไทยและสวนรวบรวมพรรณไม้ป่า
           1.2 สวนรุกขชาติ เป็นสวนที่มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนพฤกษศาสตร์ สร้างขึ้นเพื่อปลูกรวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ โดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่มีค่าหายากในทางเศรษฐกิจและพืชไม้ดอกที่หายากซึ่งมีอยู่ในท้องถิ่น แต่มิได้ปลูกเป็นหมวดหมู่เหมือนสวนพฤกษศาสตร์ หากแต่มีชื่อพันธุ์ไม้ติดไว้ มีการทำถนนทางเดินเพื่อเข้าชม จุดมุ่งหมายเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจโดยเฉพาะ และให้ผู้เข้าพักผ่อนได้รับความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ไปด้วย ขนาดของสวนรุกขชาติประมาณ 25 - 100 ไร่ สวนรุกขชาติในปัจจุบันนับได้ 53 แห่ง
           2. สวนพฤกษศาสตร์สังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์ในสวนหลวง ร.ตั้งอยู่ที่ แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ พื้นที่นี้ส่วนหนึ่งเป็นของกรุงเทพมหานครที่ซื้อไว้นานแล้ว และบางส่วนได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา กรุงเทพมหานครและมูลนิธิสวนหลวง ร.จัดสร้างขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา รอบ ในปี พ.ศ. 2530 โดยมีจุดมุ่งหมาย ดังนี้
           2.1 เป็นสวนสาธารณะ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา รอบ ในปี พ.ศ. 2530
           2.2 เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
           2.3 เป็นศูนย์กลางรวบรวมสะสมและอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย
           2.4 ส่งเสริมวิชาการด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้าน พฤกษศาสตร์แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
           2.5 ปลูกฝังทัศนคติในการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
           2.6 ประกอบกิจการสาธารณะประโยชน์ และการกุศลต่างๆ รวมทั้งทะนุบำรุงส่งเสริมและพัฒนาสวนสาธารณะ
           2.7 ร่วมมือกับองค์การกุศล และหน่วยงานทางราชการในกิจการต่างๆ
           2.8 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
           สวนพฤกษศาสตร์ในสวนหลวง ร.9

สวนหลวง ร.9

           เป็นสวนพฤกษศาสตร์สมบูรณ์แบบตามหลักอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา เนื่องจากหน้าที่ของสวนพฤกษศาสตร์ปัจจุบันได้เพิ่มจากการเป็นสถานศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว มาเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในเชิงทัศนศึกษาเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง การจัดรวบรวมพันธุ์ไม้จึงมุ่งเน้นการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงามจำเริญตาด้วย ส่วนของสวนพฤกษศาสตร์มีเนื้อที่สุทธิประมาณ 90 ไร่ และหากนับที่จอดรถและคูน้ำด้วยก็จะมีเนื้อที่รวมเป็น 120 ไร่ นับว่าเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่มีขนาดเล็กมาก เนื้อที่ภายในสวนมีการแบ่งออกเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนมีคูน้ำเพื่อการชลประทานและการระบายน้ำล้อมรอบ สวนพฤกษศาสตร์สวนหลวง ร.ทำการเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทำการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับสวนพฤกษศาสตร์อื่นๆ ปัจจุบันมีหอพรรณไม้เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณพืชอัดแห้งอยู่ประมาณ 5,000 ตัวอย่าง มีห้องสมุดขนาดเล็ก มีเรือนเพาะชำ และเรือนอนุบาลพืช แต่ยังไม่มีห้องปฏิบัติการสำหรับงานวิจัยทางพฤกษศาสตร์ชั้นสูง
           3. สวนพฤกษศาสตร์สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ. 2535 ได้รับงบประมาณและพื้นที่ เริ่มดำเนินการระยะแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยใช้พื้นที่จัดสรรจากกรมป่าไม้ ประมาณ 3,500 ไร่ ตั้งอยู่ที่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ท้องที่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทางน้ำไหลผ่านตลอดปี ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบและสูงสลับเป็นชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับความสูง 400 เมตรขึ้นไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในปี พ.ศ. 2537 ทางองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาต จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อ สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ว่า "สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (Queen Sirikit Botanic Garden)"
           วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์
           1. เป็นศูนย์วิชาการและบริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ
           2. เป็นสถานที่รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดปลูกให้สวยงามร่มรื่น เป็นหมวดหมู่อย่างผสมผสานตามอุปนิสัยพรรณไม้และติดป้ายชื่อพรรณไม้
           3. เป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์พืชของประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น กล้วยไม้ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้สมุนไพร ไม้หายากและไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ตลอดจนดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อการศึกษาในอนาคต
           4. เป็นศูนย์รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้งเพื่อการตรวจสอบรายชื่อพันธุ์ไม้ที่ถูกต้อง และเป็นฐานข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของประเทศ
           5. เป็นสถานที่แสดงถึงความงามของพรรณไม้ในธรรมชาติ โดยสอดคล้องกับการศึกษา สันทนาการทางวิชาการ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม
           6. เป็นศูนย์ส่งเสริมให้ความร่วมมือในการศึกษาค้นคว้า วิจัย และฝึกอบรมทางด้านพฤกษศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการผลิตนักพฤกษศาสตร์ให้กับประเทศ โดยจะมีการดำเนินงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ทั้งในและนอกประเทศ
           7. เป็นแหล่งรวบรวมเอกสาร และสิ่งพิมพ์เผยแพร่ในเรื่องที่เกี่ยวกับพืช
           8. เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านพฤกษศาสตร์และพันธุกรรมพืชของประเทศ โดยเฉพาะชนิดพืชที่มีอยู่ในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
           9. เป็นแหล่งปลูกฝังโน้มน้าว กล่อมเกลาจิตใจ และให้ความรู้แก่เยาวชน ให้เกิดความหวงแหนและตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ อันจะเป็นพื้นฐานวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง
           10. เป็นสถานที่ส่งเสริม เผยแพร่ความสวยงาม และคุณค่าของพรรณพฤกษชาติไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วโลก
           สวนหลวง ร.สวนพฤกษศาสตร์สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย สืบเนื่องมาจากจุดมุ่งหมายของการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในสวนหลวง ร.ที่ต้องการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ที่ต้องการจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ที่แท้จริง นำไปสู่ความเข้าใจว่าสวนพฤกษศาสตร์ที่สังกัดกรมป่าไม้จัดสร้างก่อนปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มก่อสร้างสวนหลวง ร.ยังไม่ใช่สวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบ และสวนพฤกษศาสตร์อื่นๆ ที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2535 (ปีที่จัดสร้างองค์การสวนพฤกษศาสตร์) ยังไม่ใช่สวนพฤกษศาสตร์ที่แท้จริง ถ้าศึกษาคำจำกัดความของสวนพฤกษศาสตร์ที่ว่า สวนพฤกษศาสตร์หมายถึง "พิพิธภัณฑ์พรรณพืชที่มีชีวิต และเป็นสถานที่เก็บรวบรวมพันธุ์พืชสำหรับงานศึกษาวิจัยและเป็นที่พักผ่อน ซึ่งการเก็บรวบรวมพันธุ์พืชนี้จะจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธาน และนิเวศวิทยา และติดป้ายบอกชื่อวิทยาศาสตร์ ชนิดพันธุ์พืชทุกต้น" สวนพฤกษศาสตร์ทุกแห่งจะเป็นสวนที่สมบูรณ์แบบและแท้จริง เพราะมีคุณสมบัติดังคำจำกัดความ เมื่อย้อนกลับไปดูสมัย กรีก
           Theophrastus ใช้สวนพฤกษศาสตร์เป็นสถานที่สอนนักศึกษา ค้นคว้าและวิจัย แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสวนพฤกษศาสตร์ของไทย กิจกรรมด้านวิชาการของสวนพฤกษศาสตร์ที่สังกัดกรมป่าไม้ โดยเฉพาะในด้านการค้นคว้า วิจัย จะเห็นว่า ห้องสมุดที่ดีเชิงวิชาการและห้องปฏิบัติการสำหรับงานวิจัยต่างๆ ยังอยู่ที่กรมป่าไม้ ไม่ได้กระจายไปตามสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ สวนพฤกษศาสตร์แต่ละท้องที่จึงมีลักษณะในทางให้บริการแก่ประชาชนเป็นหน้าที่หลัก สาเหตุสำคัญของการพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ในสังกัดกรมป่าไม้ไปได้ค่อนข้างช้า เพราะ บุคลากรและงบประมาณไม่เพียงพอในการพัฒนาและทะนุบำรุงสวนพฤกษศาสตร์ทั้ง แห่ง ส่วนสวนพฤกษศาสตร์ในสวนหลวง ร.มีวัตถุประสงค์สร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา รอบ จึงมีงบประมาณการเริ่มต้นของการก่อสร้างที่ดีกว่าสวนพฤกษศาสตร์ที่สังกัดกรมป่าไม้ งบประมาณส่วนหนึ่งได้มาจากการจัดสรรของกรุงเทพมหานคร และอีกส่วนหนึ่งมาจากมูลนิธิสวนหลวง ร.ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการสมทบทุน การพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในสวนมีห้องสมุดของตนเอง มีหอพรรณไม้ เรือนเพาะชำ เรือนอนุบาลพรรณพืช แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงการเป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาและงานค้นคว้าวิจัย เพราะยังไม่มีห้องปฏิบัติการค้นคว้าใดๆ สาเหตุเนื่องมาจากยังไม่มีบุคลากรเพียงพอ สำหรับสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้จัดสร้างหอพรรณไม้ สำหรับเก็บตัวอย่างพืช และใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการค้นคว้าวิจัย พร้อมทั้งมีห้องสมุดสำหรับค้นคว้าหาความรู้ทางพฤกษศาสตร์ ถึงแม้จะเพิ่งจัดสร้างได้ไม่นาน ก็มีความทันสมัยเชิงวิชาการ และกำลังพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไป ขณะนี้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จ ฯ แห่งเดียวเท่านั้นที่มีส่วนของห้องปฏิบัติการสำหรับงานวิจัยในสาขาต่างๆ ทางพฤกษศาสตร์ เรือนกระจกสำหรับปลูกและทดลองพืชต่างถิ่น มีเรือนสะสมกล้วยไม้ที่หายากของไทยและอื่นๆ นอกจากนั้นสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ยังทำการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการช่วยผลิตบัณฑิตและผลิตนักพฤกษศาสตร์ชั้นสูง และเนื่องจากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 3,500 ไร่ และมีความสูงลดหลั่นกันไปจากความสูง 400 เมตร ถึง 1,200 เมตร อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้มากมาย จึงใช้เป็นแหล่งทำการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในท้องถิ่นเดิมได้เป็นอย่างดี และใช้เป็นแหล่งทำโครงการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาของนิสิตนักศึกษา
ด้วยพระเมตตาจากฟ้าสู่ดิน
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ 
           ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบบทบาท หน้าที่และกิจกรรมของสวนพฤกษศาสตร์ไทยแล้ว สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์จะมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด เพราะ มีการดำเนินงานที่ครบวงจรมีทั้งหอพรรณไม้  ห้องสมุดสวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พืช ห้องปฏิบัติการ และศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากร หากย้อนกลับไปยังอดีตก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยมีประชากรมนุษย์ประมาณ ล้านคน ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ยังอยู่ในสภาวะสมบูรณ์ ดังวลีเปรียบเทียบว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ได้เปรียบเทียบประเทศไทย ดั่งสวนแห่งเอเด็น (Garden of Eden) เพราะไม่ว่าจะมองไปที่ส่วนใดของประเทศจะพบแต่ความชุ่มชื้นเขียวขจี สอดแซมด้วยสีสดใสของดอกไม้ ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพันธุกรรมพืช ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเรามีป่าเขตร้อนและป่าดงดิบ ที่เป็นแหล่งทรัพยากรพันธุกรรมพืชที่หลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ป่าไม้ของเราได้ลดลงเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2493 เรายังมีป่าไม้ปกคลุมอยู่ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ปี พ.ศ. 2536 เหลือเพียงประมาณ 26.02 % จัดเป็นพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 133,521 ตารางกิโลเมตร การสูญเสียป่านี้ผลักดันให้พืชและสัตว์เข้าสู่สภาวะหายากและใกล้สูญพันธุ์ หรือสูญพันธุ์ และยังทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้ง เพราะขาดแหล่งกำเนิดน้ำ ต้นน้ำ ลำธาร ดังนั้นวลีที่เคยใช้เปรียบเทียบ ความรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไทย จึงเป็นเพียงแค่ตำนาน รัฐบาลจึงเร่งอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ให้มากที่สุดด้วยการประกาศกันพื้นที่ป่าไม้เป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่ชุ่มน้ำ
 สถานภาพของพันธุ์พืช
           องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ-ไอยูซีเอ็น (IUCN: International Union for Conservation of Nature and Natural Resources) ซึ่งทำหน้าที่รณรงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ของโลก ได้จัดสถานภาพของพืชไว้ใน 1994 IUCN Red List Categories ดังนี้
           สูญพันธุ์ (extinct) หมายถึงพืชที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ชนิดพันธุ์ต้นสุดท้ายได้ตายไปแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย ตัวอย่างเช่น การพบซากดึกดำบรรพ์ของ Alnus thaiensis (Betulaceae) และ Sparganium thaiensis (Sparganiaceae) บริเวณอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งไม่เคยพบพืชทั้ง ชนิดนี้ในประเทศไทยแล้ว
           สูญพันธุ์ในธรรมชาติ (extinct in the wild) ได้แก่ ชนิดพันธุ์ที่สูญพันธุ์ในสภาวะธรรมชาติ แต่ยังมีประชากรอยู่รอดนอกแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ในพื้นที่เพาะปลูก ใน สวนพฤกษศาสตร์ ชนิดพันธุ์ที่พิจารณาว่าสูญพันธุ์ในธรรมชาติ ก็ต่อเมื่อมีการสำรวจทั่วพื้นที่ที่เคยพบและคาดว่าจะพบทุกฤดู ทุกปี ในกรอบเวลาที่เหมาะสมกับวงจรชีวิตและลักษณะของชนิดพันธุ์ แต่ไม่พบชนิดพันธุ์นั้นแม้แต่ต้นเดียว
           ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ได้แก่พันธุ์พืชที่อยู่ในสภาวะอันตรายที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการสูญพันธุ์ในสภาวะธรรมชาติในอนาคตที่ใกล้เข้ามามากกว่ากลุ่มพืชใกล้สูญพันธุ์ เช่น Damrongia purpureolineata พบเฉพาะบนพื้นหินระดับสูงประมาณ 195 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่แก่งบ้านก้อ ลำน้ำแม่ปิง จังหวัดลำพูน หลังจากสร้างเขื่อนภูมิพลแล้ว พบว่าพื้นที่บริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา และไม่พบพืชนี้อีกเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513
           ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) เป็นพันธุ์พืชที่กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์น้อยกว่ากลุ่มพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เช่น พลับพลึงธาร (Crinum thaianum : Amaryllidaceae) เป็นพืชน้ำที่ขึ้นได้เฉพาะน้ำไหลและใสสะอาด พบที่คลองนาคาและคุระบุรี จังหวัดระนอง เนื่องจากมีการลักลอบตัดไม้ทำลายต้นน้ำลำธาร สภาพน้ำที่เคยใสเปลี่ยนเป็นตะกอนโคลนตม เป็นการทำลายสภาพนิเวศเดิม
           มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) เป็นพันธุ์พืชที่ไม่ได้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งและใกล้สูญพันธุ์ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ในสภาวะธรรมชาติที่ไกลกว่าสองกลุ่ม เช่น เฟิร์นและกล้วยไม้หลายชนิด ในขณะนี้มีการเก็บออกจากป่าและลักลอบส่งเป็นสินค้าออก หากยังไม่มีการจัดการที่ดี พืชเหล่านี้จะเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์
           มีความเสี่ยงน้อย (lower risk) เป็นกลุ่มพืชที่มีความเสี่ยงน้อยต่อการสูญพันธุ์ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้ กลุ่ม คือ
                กลุ่มที่ขึ้นอยู่กับการอนุรักษ์ (conservation dependent) เป็นกลุ่มพืชเป้าหมาย ของโครงการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ และไม่มีคุณสมบัติเป็นชนิดพันธุ์ที่จะถูกคุกคามภายในระยะเวลา ปี
                กลุ่มที่ใกล้คุกคาม (near threatened) เป็นกลุ่มพืชที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะจัดเป็นกลุ่มพืชที่ขึ้นอยู่กับการอนุรักษ์ แต่ใกล้ที่จะมีคุณสมบัติอยู่ในกลุ่มของพืชที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
                กลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (least concern) พืชในกลุ่มนี้เป็นพืชที่พบเห็นอยู่ทั่วไปเป็นธรรมดา (commoness) ซึ่งเป็นพืชที่ไม่มีคุณสมบัติอยู่ในกลุ่ม ขึ้นอยู่กับการอนุรักษ์ และ ใกล้คุกคาม
           พืชที่ใกล้สูญพันธุ์กับการอนุรักษ์
           พืชที่ใกล้สูญพันธุ์มีลักษณะดังนี้
           เป็นพืชหายาก ซึ่งหมายถึง พืชที่มีจำนวนน้อยหรือหายากในสภาวะธรรมชาติ มีขอบเขต พิจารณาดังนี้
           เขตกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ พันธุ์พืชบางชนิดพบว่าเจริญเติบโตอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่กว้าง กล่าวคือ สามารถพบได้ในที่อื่นของโลก และสามารถปรับตัวเจริญเติบโตอยู่ในประเทศไทยได้ เช่น พันธุ์ไม้เขตอบอุ่นที่เจริญเติบโตอยู่ในเขตจีนตอนใต้ อินโดหิมาลายัน สามารถแพร่เข้ามาเจริญเติบโตตามยอดเขาสูงในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนตัวอย่างเช่น กุหลาบดอย (Rhododendron ludwigianumและชมภูเชียงดาว (Pedicularis siamensisที่พบบนดอยอินทนนท์ ดอยปุย ภูหลวง ภูกระดึง เป็นต้น ในขณะที่พืชบางชนิดจะขึ้นอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่แคบ เช่นจะขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งมักจะได้แก่พืชประจำถิ่นของไทย
           ความเฉพาะของแหล่งที่อยู่อาศัย เนื่องจากพืชชนิดต่างๆ ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะมีความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่มันอยู่ ซึ่งบางชนิดจะมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่จำกัดมาก คือจะขึ้นได้ดีเฉพาะที่เฉพาะแห่ง เช่น ต้องมีชนิดดินแบบนี้ อุณหภูมิขนาดนั้น ความชื้นต้องเท่านี้ เป็นต้น มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถขึ้นและเจริญเติบโตได้ ตัวอย่างเช่น สนใบเล็ก (Podocarpus polystachyusพบที่ภูหลวง จังหวัดเลย แห่งเดียว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร ไม่สามารถนำมาปลูกบนพื้นที่ราบได้เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสม ในขณะที่พืชบางชนิด เช่น ต้นตีนเป็ดแดง (Dyera costulataสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมหลายแบบ คือสามารถขึ้นได้ในป่าดงดิบ ทางภาคใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ ป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
           ขนาดของประชากรในทุกสถานที่ที่พบ จะแบ่งเป็นประชากรขนาดเล็ก และ ประชากรขนาดใหญ่ พร้อมทั้งต้องพิจารณาสมาชิกของประชากรนั้นด้วยว่าต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มีวัยต่างๆ กัน
           ดังนั้น พันธุ์พืชหายากจะกระจายพันธุ์อยู่ในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่จำกัดแคบ หรือมีแหล่งที่อยู่อาศัยเฉพาะที่หรือมีจำนวนประชากรขนาดเล็ก หรือข้อกำหนดทั้ง แบบมาสัมพันธ์กัน เช่น พันธุ์พืชที่เจริญอยู่ได้ทุกเขตภูมิศาสตร์ (เขตภูมิศาสตร์กว้าง) เจริญอยู่ได้ในทุกระบบนิเวศ (อยู่อาศัยได้ทั่วไป) หากจำนวนประชากรที่พบแต่ละครั้งมีความหนาแน่นน้อย (ประชากรขนาดเล็ก) ก็ยังจัดเป็นพันธุ์พืชหายาก เพราะประชากรในกลุ่มมีโอกาสผสมพันธุ์กันเอง ทำให้เกิดการชะล้างพันธุกรรม เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหรือเกิดโรคระบาดก็จะไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ หรือขนาดของประชากรมีขนาดใหญ่ในทุกสถานที่ที่พบแต่มีแหล่งที่อยู่อาศัยที่เฉพาะในเขตภูมิศาสตร์ที่จำกัด เช่น เป็นพันธุ์พืชที่เกิดเฉพาะบริเวณหุบเขาของป่าดงดิบทางภาคเหนือของไทย จากการนำลักษณะทั้ง แบบนี้มาสัมพันธ์กันก็จะสามารถประเมินได้อย่างคร่าวๆ ถึงระดับของความหายาก ระดับด้วยกัน ระดับพันธุ์พืชที่หายากมากที่สุดซึ่งจะเข้าสู่สภาวะสูญพันธุ์ในระยะเวลาอันใกล้ เป็นความหายากระดับที่ ส่วนความหายาก ระดับที่ จะเป็นพันธุ์พืชที่ยังอยู่ห่างไกลจากการสูญพันธุ์มาก และระดับที่ เป็นพันธุ์พืชที่พบเห็นได้ทั่วไปยังไม่ต้องกลัวสูญพันธุ์

Rhododendron

           สำหรับ Rhododendron ludwigianum และ Pedicularis siamensis จัดเป็นพืชหายากในประเทศไทย ถึงแม้จะมีเขตภูมิศาสตร์ที่กว้าง แต่เพราะมีประชากรขนาดเล็กและมีแหล่งอยู่อาศัยที่จำกัด พืชทั้งสองชนิดนี้ไม่จัดเป็นพืชหายากในเขตทางใต้ และในแถบอินโดหิมาลายัน เพราะมีประชากรขนาดใหญ่ และแหล่งที่อยู่อาศัยไม่จำกัด เพราะทั้งสอง สถานที่ที่กล่าวนี้มีสภาพอากาศเย็น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นพันธุ์พืชที่จัดว่าหายากของประเทศหนึ่ง อาจจะเป็นพันธุ์พืชธรรมดาของอีกประเทศหนึ่ง
           พันธุ์พืชอายุยืน พืชที่มีอายุยืนจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับได้เร็วเมื่อได้รับการทำลายหรือรบกวน เพราะระยะเวลาการเจริญเติบโตจนถึงต้นโตเต็มวัยพร้อมที่จะสืบพันธุ์ผลิดอกใช้เวลานานหลายปี หรือพันธุ์พืชบางชนิดใช้เวลานานมากถึง 30 - 40 ปี (Corypha spp.) ในระหว่างการเจริญเติบโตสู่ต้นเต็มวัยก็อาจจะมีโอกาสได้รับการรบกวนจากสิ่งแวดล้อมทั้งในเรื่องของศัตรูพืช หรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ มีความเฉพาะเจาะจงกับแมลงชนิดนั้นๆ ในการผสมละอองเกสร และมีอัตราการพัฒนาของรังไข่จนถึงผลและเมล็ดไม่สูงนัก นอกจากนั้นการเจริญเติบโตปีแรกในสภาวะธรรมชาติ อัตราการอยู่รอดของต้นกล้า ค่อนข้างต่ำประมาณ 5 % ของต้นกล้าทั้งหมดที่งอก อีกประการหนึ่งที่ทำให้พันธุ์พืชอายุยืน มีโอกาสเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์ได้ง่าย ก็คือเมื่อขนาดของประชากรกำลังลด เราจะเห็นไม่ชัดเจนนักเพราะจำนวนต้น อาจจะยังเท่าเดิม แต่ลดอัตราการผลิดอกออกผล หรือสร้างเมล็ดที่ไม่แข็งแรงและอ่อนแอต่อโรค ทำให้ไม่มีพืชรุ่นใหม่มาทดแทนเมื่อพืชรุ่นพ่อแม่ล้มลง
           ชนิดพันธุ์ที่ต้องอาศัยชนิดพันธุ์หลัก (keystone species) ในการดำรงชีวิตเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากในสภาวะธรรมชาติพืชและสัตว์มีความสัมพันธ์กันอย่างสูง จึงขออธิบายเกี่ยวเนื่องกันทั้งพืชและสัตว์ในหัวข้อนี้
           ในเขตศูนย์สูตรสิ่งมีชีวิตอยู่กันอย่างหนาแน่น บางชนิดอาจจะสูญหายไป โดยสภาพของระบบนิเวศยังรักษาสมดุลไว้ได้ แต่ชนิดพันธุ์บางชนิดเมื่อสูญหายไปหรือลดน้อยลง ระบบนิเวศจะเปลี่ยนแปลง หรือทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตายตามไปด้วย เรียกชนิดพันธุ์นั้นว่า ชนิดพันธุ์หลัก (keystone species) ซึ่งอาจจะเป็นชนิดพันธุ์เดี่ยวหรือเป็นกลุ่มของชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อโครงสร้าง กระบวนการของป่าและความมากมายของชนิดพันธุ์อื่นๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ชนิดพันธุ์หลักอาจจะเป็นผู้ล่า เพื่อจำกัดจำนวนเหยื่อในการแข่งขันเรื่องของอาหาร อาจจะเป็นแหล่งอาหาร เช่น พืชในกลุ่มมะเดื่อและปาล์มที่ออกผลช้ากว่าพืชป่าอื่นๆ จึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ที่กินผลไม้ในขณะที่ผลไม้ป่าชนิดอื่นๆ ได้วายไปแล้ว อาจจะทำหน้าที่ในการบำรุงรักษากระบวนการของระบบนิเวศ เช่น ไนโตรเจนฟิกซิ่งแบคทีเรีย (Nitrogen fixing bacteria) หรือฟอสฟอรัสโมบิไลซิ่งฟังไจ (Phosphorus mobilizing fungi) หรืออาจจะเป็น แหล่งที่อยู่เฉพาะของพืชบางชนิด เช่น เฟิร์นเขากวาง (Platycerium ridleyiจะขึ้นเฉพาะต้นยาง (Dipterocarpus spp.) ที่มีความสูง 30 เมตรขึ้นไป และบัวผุด (Raffelsia kerriiจะเป็นกาฝาก ของย่านไก่ต้ม (Tetrastigma quadrangulumที่เกิดในป่าดงดิบ สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 - 2,000 เมตร ดังนั้น พันธุ์พืชที่ต้องอาศัยชนิดพันธุ์หลักในการดำรงชีวิตจึงมีโอกาสเข้าสู่สภาวะสูญพันธุ์ได้สูง หากชนิดพันธุ์หลักสูญหายไป ตัวอย่างเช่น การกระจายพันธุ์ของต้น Calvaria major ต้องอาศัยนก dodo (Raphus cucullatusในการช่วยสลายเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งมาก เมื่อนก dodo สูญพันธุ์ทำให้พืชชนิดนี้สูญพันธุ์ไปและก่อให้สัตว์หลายชนิดขาดแหล่งอาหารไปด้วย การสูญพันธุ์ของ Honeycreepers ทำให้ต้น Hibicadelphus spp. ขาดพาหนะช่วยผสมละอองเกสร และเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือหากเสือและนกอินทรีสูญพันธุ์ จะทำให้ลิงเกิดการแพร่พันธุ์อย่างไม่จำกัด ซึ่งจะก่อให้นกที่ทำรังบนดินสูญพันธุ์
ตารางที่ 20.5 ลักษณะของชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดจนถึงพืชที่พบได้ทั่ว ๆ  ไป
พิจารณาจากเขตทางภูมิศาสตร์ความเฉพาะของแหล่งที่อยู่และขนาดของประชากรในท้องถิ่นที่พบ
ระดับของ
ความหายาก
การกระจายพันธุ์
ทางภูมิศาสตร์
ความเฉพาะของ
แหล่งที่อยู่
ขนาดของ
ประชากร
1
แคบ
จำกัด
เล็ก
2
แคบ
จำกัด
ใหญ่
3
แคบ
ทั่วไป
เล็ก
4
แคบ
ทั่วไป
ใหญ่
5
กว้าง
จำกัด
เล็ก
6
กว้าง
จำกัด
ใหญ่
7
กว้าง
ทั่วไป
เล็ก
ธรรมดา
กว้าง
ทั่วไป
ใหญ่
           สาเหตุที่ทำให้พืชใกล้สูญพันธุ์
           ปัจจัยที่ผลักดันให้พันธุ์พืชเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์อันเนื่องมาจากมนุษย์มี 3 ทางด้วยกันคือ การใช้ประโยชน์มากเกินไป การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย และการนำพืชพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามา
           การใช้ประโยชน์มากเกินไป มนุษย์รู้จักนำพันธุ์พืชต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของตนมาตั้งแต่อดีต แต่เป็นการนำมาใช้เพียงในครัวเรือนของตน ดังนั้นจำนวนพืชตามแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ ยังเหลืออยู่จำนวนมากพอที่จะบำรุงรักษาความสมดุลของระบบนิเวศไว้ได้ และส่วนที่มนุษย์ใช้ไปแล้วก็จะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แต่ในปัจจุบันมนุษย์นำพันธุ์พืชมาเพื่อประโยชน์ทางการค้า เก็บเกี่ยวจากป่ามากเกินไปและไม่ถูกวิธีจนทำให้จำนวนสะสมในป่าลดลง และประชากรพืชไม่สามารถเติบโตขึ้นมาทดแทนได้ทัน พันธุ์พืชที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากจะมีจำนวนประชากรลดลงเร็ว ผลักดันให้พันธุ์พืชชนิดนั้นๆ เข้าสู่สภาวะหายากและใกล้สูญพันธุ์ มนุษย์นำพันธุ์พืชมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ได้แก่
           นำมาเป็นอาหาร ใช้ส่วนของยอดอ่อน หน่ออ่อน ดอก ผลหรือเมล็ดมาเป็นอาหาร ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินจะเห็นว่าต้นพืชก็ยังอยู่ ไม่น่าจะทำให้พืชเกิดสภาวะหายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้ แต่การนำโครงสร้างเหล่านั้นของพืชมาเป็นอาหาร จะทำให้พืชไม่สามารถผลิตพืชต้นใหม่ได้ ถ้าต้นแก่เกิดตายลงก็จะไม่มีพืชต้นใหม่ทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามนุษย์เก็บดอกผลหรือเมล็ดมามากเกินไป จะทำให้แมลง นก หรือสัตว์ป่าบางชนิดขาดแหล่งอาหารไปด้วย
                ทางด้านเนื้อไม้ ซึ่งจะเป็นการตัดไม้มาใช้ในการก่อสร้างเครื่องเรือน เครื่องใช้ต่างๆ บางชนิดจะนำมาเป็นเครื่องหอม เช่น กฤษณา ( Aquilaria crassna โดยการถากเนื้อไม้ให้เป็นแผล ซึ่งเป็นการรบกวนทำร้ายพืชอย่างมหันต์ และพืชจะตายลงในที่สุด นอกจากนั้น พันธุ์พืชบางชนิด นำมาเป็นเครื่องเทศ เช่น อบเชย( Cinnamonum iners หรือตัดมาเพาะเห็ดหอมโดยไม่มีการปลูกทดแทน เช่น ไม้ก่อ เป็นต้น
           นำมาเป็นไม้ประดับพันธุ์พืชที่นิยมของตลาดและลักลอบนำออกมาจากป่ามากที่สุดได้แก่ เฟิร์นและกล้วยไม้ โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี ( Paphiopedilum spp. สกุลเอื้อง ( Dendrobium spp. และสกุลแวนด้า ( Vanda spp. มีการส่งกล้วยไม้เหล่านี้ออกต่างประเทศมากเกินไป จนตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ จึงได้รับเป็นพืชอนุรักษ์อันดับที่ มีข้อห้ามนำมาค้าขาย ยกเว้นชนิดพันธุ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์เทียม แต่ก็ยังมีพ่อค้าเก็บพันธุ์ไม้มาส่งขายแก่พ่อค้าคนกลางที่สวนจตุจักร ทุกวันพุธ และเสาร์-อาทิตย์ จากนั้นพ่อค้าคนกลางขายต่อให้พ่อค้ากล้วยไม้ส่งออกหลายสิบราย ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการที่เด็ดขาด ทั้งเฟิร์นและกล้วยไม้ก็จะหมดไปจากป่าเมืองไทย
           การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยหรือระบบนิเวศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของพืช ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยหรือระบบนิเวศดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่ หมายถึงระบบนิเวศที่พัฒนามาจนถึงขั้นสูงสุด ( climax community การเปลี่ยนแปลงหรือทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยเกิดได้ด้วยหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
           1. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากต้องการพื้นที่ทำการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ เช่นการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา ทำให้พืชประจำถิ่นบนดอยเชียงดาว อย่างน้อย 11 ชนิดสูญหายไป และการทำลายป่าชายเลนเพื่อใช้ทำนากุ้งก็ผลักดันให้พืชและสัตว์เข้าสู่สภาวะหายาก
           2. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการนำพื้นที่มาวางท่อก๊าซขนาดใหญ่ เช่น ที่ปรากฏเป็นข่าวในจังหวัดกาญจนบุรี พันธุ์พืชบริเวณที่จะวางท่อก๊าซและตามเส้นทางการนำเครื่องมือใหญ่ๆ เข้าไปทำงานจะถูกตัดทำลายลง แม้ในขณะทำงาน จำนวนมนุษย์และการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักรก็จะรบกวนระบบนิเวศ
           3. การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการสร้างเขื่อน การสร้างเขื่อนจะทำให้พื้นที่ป่าเหนือเขื่อนถูกน้ำท่วมเป็นสาเหตุการทำลายพื้นที่ป่าและพันธุ์พืช เช่นป่าในประเทศไทยที่มีความสูง 200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลที่อยู่ภายใต้เขื่อนใหญ่ๆ จมอยู่ใต้น้ำทำให้พืชที่เคยปรากฏให้เห็นจมน้ำและสูญหายไป หรือกรณีของเขื่อนเชี่ยวหลาน เขื่อนเขาแหลม หลังจากสร้างเขื่อนเสร็จทำให้ไม้ยืนต้น และพืชอีกหลายชนิดในป่าเหนือเขื่อนจมอยู่ใต้น้ำมีผลให้เฟิร์นหลายชนิดตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์
           4. การทลายภูเขาหินปูนเพื่อนำหินมาใช้ทำถนนและใช้ในการก่อสร้างก็เป็นสาเหตุที่สำคัญในการผลักดันให้พันธุ์พืชเข้าสู่สภาวะหายากและใกล้สูญพันธุ์
           5. การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากสงคราม ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี พ.ศ. 2503-2513 ประเทศไทยเป็นฐานทัพให้ประเทศสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียตนาม ซึ่งเป็นการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นตัดถนนสำคัญ ๆ หลายสายผ่านพื้นที่ป่า สำหรับขนส่งกำลังทหาร เสบียง และอาวุธ ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็เกิดการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้มีการก่อสร้างถนนมากขึ้นสำหรับขนส่งกำลังพลต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่ตั้งฐานอยู่ในป่า นอกจากนั้นในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2507 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2508 ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้พื้นที่ป่าอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบฝนเหลือง (Agent orange) ในโครงการปฏิบัติการใบไม้ร่วง ก่อนที่จะไปปฏิบัติจริงในการต่อสู้กับประเทศเวียตนาม ฝนเหลืองนี้จะทำลายสภาพป่าทำให้ใบไม้ร่วง และสารไดออกซินที่เป็นองค์ประกอบของฝนเหลืองมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคมะเร็งในมนุษย์
           6. การใช้อาวุธนิวเคลียร์มีผลโดยตรงต่อพืชและสัตว์ อย่างเช่น การทดลองอาวุธนิวเคลียร์บริเวณเกาะ Eiao และ Aotutu ในปี พ.ศ. 2513 มีผลทำให้พืชและสัตว์ของเกาะนั้นสูญพันธุ์ทันที และผลกระทบต่อเนื่องของอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่การเกิดฤดูหนาวหลังสงครามนิวเคลียร์ ที่เกิดจากฝุ่นละออง หมอก มาปิดกั้นแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านมายังโลก
           การสูญพันธุ์โดยการนำพืชต่างถิ่นเข้ามา การนำพืชต่างถิ่นเข้ามาในประเทศไทย เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างสูง และมีโทษอย่างมหันต์ ในเรื่องของประโยชน์จะเห็นได้จากตัวอย่างพืชเศรษฐกิจของไทย อย่างเช่นไทยส่งมันสำปะหลังออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกและสับปะรดเป็นอันดับสองของโลก พืชทั้ง ชนิดนี้ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของโทษจากการนำพืชต่างถิ่นเข้ามา
           ทุกๆ ประเทศในโลกต่างก็มีมาตรการในการกักกันตรวจสอบพืชที่ส่งมาจากประเทศอื่น ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติกักกันพืช พ.ศ. 2507 มีจุดประสงค์ในการป้องกันและกำจัดชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่นที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อพืชท้องถิ่น หรืออาจเป็นพาหะโรคศัตรูพืชที่อาจจะเข้ามาทำลายพืชและผลิตผลพืชภายในประเทศหรืออาจจะเป็นภัยโดยตรงต่อมนุษย์
           7. การนำพืชต่างถิ่นเข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ตัวอย่างเช่น บัวตอง ( Tithonia diversifolia ที่แพร่กระจายเข้ามาจนเกิดความสวยงาม นับว่ามีปัญหาค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากรุกล้ำเข้าสู่ทุ่งหญ้าที่เกิดจากการทำลายป่าได้ดี ทำให้หญ้าและพืชล้มลุกพันธุ์พื้นเมืองหลายชนิดต้องหายไป ไมยราบยักษ์ ( Mimosa pigra แพร่กระจายเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีแหล่งน้ำและพื้นที่ชื้นแฉะ ไมยราบยักษ์จะขึ้นแก่งแย่งและเอาชนะพืชท้องถิ่น ทำให้พืชดั้งเดิมหลายชนิดสูญหายไปและองค์ประกอบของพรรณไม้ในพื้นที่ป่าผิดไปจากเดิม สัตว์ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต้องย้ายถิ่นที่อยู่ เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป ในหลายแหล่งน้ำที่มีการกระจายของผักตบชวา ( Eichhornia crassipes ได้ทำลายพันธุ์พืชน้ำของประเทศไทยมากมาย ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงการลดลงของแมลงในนาและปลาหลายชนิด
บัวตอง           
           นอกจากนั้นพืชต่างถิ่นยังช่วยแพร่กระจายโรคพืชที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย ก่อนนำพืชต่างถิ่นเข้ามามันยังไม่แสดงอาการระบาดหรือทำลายพืชให้เห็นเด่นชัด เนื่องจากยังไม่มีที่พักพิง (host) ที่เหมาะสม แต่เมื่อนำพืชต่างถิ่นเข้ามาซึ่งเป็นอาหารที่ชอบมากกว่าพืชที่มีอยู่แล้วในเมืองไทย โรคพืชเหล่านี้จึงขยายพันธุ์และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การทำลายพืชอื่นต่อไป เช่น กระถินเทพา ( Acacia mangium นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเพราะเป็นไม้โตเร็ว พุ่มสวยงามและใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่เมื่อถึงอายุที่จะใช้งานได้จะเป็นโรคไส้หัก ( heartrot กระถินณรงค์ (Acacia auriculaeformis ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ถูกแมลง Twig borer ( Sinoxylon spp. เจาะทำลายอย่างรุนแรง
           การนำพืชต่างถิ่นเข้ามาจึงมีผลต่อการลดจำนวนของพันธุ์พืชดั้งเดิม ซึ่งอาจจะชักนำพันธุ์พืช เหล่านั้นเข้าสู่สภาวะหายากและสูญพันธุ์
           การอนุรักษ์พืชใกล้สูญพันธุ์
           พืชใกล้สูญพันธุ์ มีโอกาสจะเข้าสู่สภาวะสูญพันธุ์ในไม่ช้าจึงสมควรรีบอนุรักษ์ไว้ ซึ่งมีแนวทาง ดังต่อไปนี้
           การอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะชนิดพันธุ์พืชใกล้สูญพันธุ์จะมีแหล่งที่อยู่จำกัด สูญหายได้ง่าย ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับพืชชนิดอื่น กับแมลงหรือสัตว์ต่างๆ ที่ช่วยให้การผสมละอองเกสร หรือเป็นพาหะในการกระจายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของพืช การดำเนินการของรัฐบาลจึงเร่งอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ด้วยการประกาศกันพื้นที่ป่าไม้เป็นอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำหรือประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเร่งปลูกจิตสำนึกให้เกิดกับประชาชน เกิดความเข้าใจและหวงแหนทรัพยากรของชาติหยุดการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืช
           การอนุรักษ์นอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ได้แก่การนำพืชหายากหรือพืชใกล้สูญพันธุ์มาปลูกและขยายพันธุ์ในสวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ดังที่เคยกล่าวมาแล้วว่าพืชกลุ่มนี้จะเจริญเติบโตอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ที่แคบและมีที่อยู่อาศัยที่จำกัดเฉพาะที่ จึงเป็นการยากและสิ้นเปลืองงบประมาณมากในการสร้างระบบนิเวศให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและความอยู่รอดของพืช ซึ่งมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ดังนั้นการรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมให้พืชอยู่ตามธรรมชาติจะเป็นการดีที่สุด

1 ความคิดเห็น:

The Human Respiratory System

This system includes the lungs, pathways connecting them to the outside environment, and structures in the chest involved with moving air in...